16 มิถุนายน 2564 - ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 นับเป็นวิกฤตที่สร้างความท้าทาย และเป็นโจทย์ยาก ที่จะกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เร็วและให้ทันในทุกด้าน พร้อมกับมองหากลยุทธ์และตลาดใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ โดยที่เป้าหมายสำคัญไม่ใช่แค่การประคองตัวให้รอดในยุคนี้ แต่ยังต้องสร้างการเติบโตครั้งใหม่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในปัจจุบันด้วย คือ คำกล่าว ยืนยันความยาก ในการดำเนินธุรกิจยุคนี้ ของ หญิงแกร่ง เบอร์ใหญ่ แห่ง บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
ซึ่งล่าสุด ออกมาระบุว่า แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของลูกค้ายังบีบคั้น สร้างความน่ากลัว และ ความเสี่ยงในการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ทิศทางการดำเนินงานในปี 2564 นั้น ทางบริษัทยังคงมุ่งสู่เป้าหมายตามต้นปีที่ได้ประกาศไว้ ภายใต้มาตรการ “SENA Strong” โดยล่าสุดเสนาปรับแผนการเปิดโครงการใหม่ จาก 17 โครงการ รวมมูลค่า 15,700 ล้านบาท เป็น 18 โครงการ รวมมูลค่า 16,764 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายเดิมไว้ที่ 11,100 ล้านบาท และเป้ารายได้ที่ 10,000 ล้านบาท
สำหรับเรือธง หมัดเด็ดสำคัญ ดร.ยุ้ย ส่ง แบรนด์ “เสนาคิทท์”คอนโดมิเนียม เซกเม้นท์ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ลงสนามสงครามราคา จำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ 3,700 ล้านบาท โดยระบุว่า จะเป็นหนึ่งใน Brand Product ของเสนาที่ขับเคลื่อนแผนธุรกิจในนี้ และตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงของคนที่มีรายได้จำกัด และต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ในราคาที่สามารถจับต้องได้ง่าย
จากการศึกษาคอนซูมเมอร์อินไซด์ของลูกค้าเสนาคิทท์ พบ
1. คอนโดมิเนียมที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้านั้น ต้องเป็นคอนโดที่อยู่บนทำเลใกล้แหล่งงาน เพื่อความสะดวกสบาย และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้
2.ระดับราคาต้องไม่แพงสามารถจับต้องได้ แต่ได้ของที่คุ้มค่า
3. ที่อยู่อาศัยถือเป็นปัจจัย 4 มีคนจำนวนมากที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง แต่ฐานรายได้เอื้อมไม่ถึงระดับราคาทาวน์เฮาส์ในทำเลนั้นๆ
ดังนั้น คอนโดฯ ระดับราคาต่ำล้าน จึงเข้ามาตอบโจทย์ให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้
" เสนาคิทท์ เป็นคอนโดต่ำล้าน ซึ่งบริษัททำมาระยะนึงแล้ว ขณะเมื่อปีที่แล้ว ภายใต้สถานการณ์โควิด ทดลองเปิดจำนวน 2 โครงการ ปรากฎว่าตอบโจทย์ สามารถปิดการขาย โครงการ เสนาคิทท์ เทพารักษ์ - บางบ่อ ได้ นับเป็นภาพความสำเร็จที่สวนทางความคิดกับผู้ประกอบการรายอื่น ที่มองว่า เซกเม้นท์ล่าง ขายยาก มีความเสี่ยง "
ดร.ยุ้ยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมี โครงการแบรนด์เสนาคิทท์อยู่ระหว่างการเปิดขายและเตรียมเปิดตามแผนธุรกิจใหม่ รวมทั้งสิ้น 12 โครงการ รวมมูลค่า 5,010 ล้านบาท
แบ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการเปิดขาย 4 โครงการ รวมมูลค่า 1,306 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.เสนาคิทท์ เพชรเกษม – พุทธมณฑล สาย 7
2. เสนาคิทท์ เอ็มอาร์ที – บางแค
3.เดอะ คิทท์ รังสิต – ติวานนท์
4. เดอะ คิทท์ พลหโยธิน - คูคต
โครงการเปิดใหม่ในปี 64 อีก 8 โครงการ รวมมูลค่า 3,704 ล้านบาท โดยเปิดไปแล้วช่วงไตรมาส 1/64 จำนวน 1 โครงการ “เสนาคิทท์ เวสต์เกต – บางบัวทอง” ปัจจุบันมียอดขายแล้วกว่า 50%
ส่วนอีก 7 โครงการ มีแผนจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 3/64 และไตรมาส 4/64 ตามลำดับ ประกอบด้วย
1. เสนาคิทท์ ฉลองกรุง – ลาดกระบัง 2.เสนาคิทท์ บางปู
3.เสนาคิทท์ บีทีเอส สะพานใหม่
4.เสนาคิทท์ รังสิต – คลอง 4
5.เสนาคิทท์ เอ็มอาร์ที – บางแค (เฟส 2)
6.เสนาคิทท์ ศรีนครินทร์ - ศรีด่าน และ
7.เสนาคิทท์ ธรรมศาสตร์ – คลอง 1
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์สำคัญของแบรนด์ เสนาคิทท์ คือ ทำเลที่ตั้งที่ใกล้แหล่งงานสำคัญ ของกลุ่มคนที่มีฐานรายได้อาจไม่ถึง 20,000 บาทต่อเดือน กระจุกตัวอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมที่อาจเช่าหอพัก อพาร์ตเม้นท์เพื่ออยู่อาศัย เพื่อประหยัดค่าเดินทาง ขณะการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในยุคนี้ เป็นเรื่องยาก หากทำให้ภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้น ฉะนั้น เสนาฯ วางรูปแบบการซื้อ หรือ อัตราการผ่อนจ่ายคอนโดต่อเดือน (ผ่อน 2,500 -3,000 บาทต่อเดือน) ให้ใกล้เคียงกับการจ่ายค่าเช่าเดิม เพื่อตัดปัญหาความกังวล เรื่องหนี้ครัวเรือน
" โลเคชั่นที่ดี คือ อยู่ใกล้รถไฟฟ้า แต่ส่วนใหญ่เป็นคอนโดฯ ราคาแพง แถมค่าเดินทางก็สูง เป็นเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง เสนาคิทท์ พยายามจะตอบโจทย์ ว่าโลเคชั่นที่ดี ของแต่ละคน ไม่ได้เหมือนกัน แต่เป็นโลเคชั่นที่ใกล้กับแหล่งงาน ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง จากแผนข้างต้น เราไปทุกแหล่งงานสำคัญรอบกรุงเทพฯ เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มนี้ "
อย่างไรก็ตาม ในการออกแบบและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งโครงการในปัจจุบันและโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้มีการนำเอาสิ่งต่าง ๆ ที่อินไซต์ลูกค้ามาปรับใช้ในการพัฒนาสินค้าและการบริการในปีนี้ด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด โดยเน้นเจาะทำเลรอบนอกเมือง ใกล้แหล่งงาน เน้นขนาดโครงการไม่ใหญ่มาก ฟังก์ชั่นภายในออกแบบกั้นห้องเป็นสัดส่วน ให้พื้นที่ส่วนกลาง สิ่งอำนวยความสะดวกครบและคุ้ม เพียบพร้อมเหมาะกับการอยู่อาศัย
สำหรับภาพรวมของคอนโดฯ ราคาต่ำล้านบาท ดร.ยุ้ย กล่าวว่า ที่ผ่านมา เป็นตลาดที่เล็กมาก มีซัพพลายไม่ถึง 5% ของตลาดการเปิดตัวใหม่ในทุกๆ ปี เจ้าตลาด คือ การเคหะแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายเห็นโอกาส และหันมาพัฒนากันมากขึ้น เป็นโอกาสดีที่จะสนับสนุนให้คนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง
ส่วนทิศทางตลาดอสังหาฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง ประเมินว่า คงมีแนวโน้มที่ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์โควิด เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ สนับสนุนให้ลูกค้ากู้สินเชื่อได้ เนื่องจากเป็นไทม์ไลน์ที่หลายโครงการครบกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ รวมถึงบริษัทด้วย ทั้งนี้ การแพร่ระบาดในหลายคลัสเตอร์ รวมถึง จากไซต์คนงานก่อสร้าง ทำให้มีความกังวลอยู่บ้าง ในการประเมินเปิดโครงการใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากหากมีปัญหาเกิดขึ้น จำเป็นต้องหยุดก่อสร้าง จะทำให้โครงการล่าช้า และกระทบต่อแผนงาน รวมถึงการวางเงินดาวน์ การโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นส่วนรายได้ของบริษัท ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ทั้ง 8,000 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง