รีโอเพนนิ่งประเทศ "อนันดา" ตุนกระสุน 8 หมื่นล้าน รีสตาร์ทธุรกิจ

27 พ.ย. 2564 | 00:42 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2564 | 07:49 น.

บมจ.อนันดา ปลุกอสังหาฯ ลงทุนใหม่ รับ รีโอเพนนิ่งประเทศ หลังโควิด ดันพอร์ตโครงการที่อยู่ - เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ 8 หมื่นล้าน ยกเครื่องธุรกิจใหม่ จับตา คอนโดฯ ฟรีโฮลด์พระราม 4 ครอบแก้วลอยฟ้า เคาะราคาขายแข่ง 100 ล้าน เดินเกมรักษาแชมป์ที่อยู่คนเมือง รอดหรือร่วง?

การประกาศ "โครงสร้างเงินทุนใหม่" ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผ่านการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 1,666,500,000 หุ้น มูลค่ากว่า 2.6 พันล้านบาท โดย นาย ชานนท์  เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ระบุ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งฐานะทางการเงิน รองรับการขยายแผนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต

 

หลังจาก  " เชื่อบริษัทผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ภาพรวมตลาดอสังหาฯ มีทิศทางที่ดีขึ้น ประเมิน ปี 2565 ตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคจะกลับมาแน่ " 

นับเป็นสัญญาณครั้งล่าสุด ที่ บมจ.อนันดา ลุยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และปลุกตลาด อสังหาฯ ให้คึกคักตื่นตัว หลังตลอดช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2563-2564) อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมกลางเมือง เผชิญกับความผันผวนของดีมานด์ครั้งเลวร้ายสุด จากสถานการณ์โควิด-19

 

ขณะจำนวนซัพพลายคอนโดฯ เปิดใหม่ ตลอดปีนี้ คาดมีไม่ถึง 2 หมื่นหน่วย ผกผันจากนิวไฮ 6 หมื่นกว่าหน่วยในปี 2561 ส่วนราคาขาย เข้าสู่ภาวะต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปีเช่นกัน ทั้งนี้ ก็มาจาก สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ - การปิดประเทศ กดดันความเชื่อมั่นของผู้พัฒนาอสังหาฯ ชะลอการลงทุน และหั่นราคาขายโครงการ เพื่อกอบกู้กระแสเงินสดพยุงตัว

อนันดาภายใต้โควิด

สำหรับ บมจ.อนันดานั้น นับเป็นเบอร์ต้นทั้งในตลาดอสังหาฯ และในกลุ่มผู้พัฒนาโครงการคอนโดฯ ถือหุ้นใหญ่โดย ตระกูล : เรืองกฤตยา ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็น 1 ใน TOP 5 ตลาดลูกค้าต่างชาติ ซึ่งมีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ในแต่ละปีเฉลี่ย 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ โครงการแต่ละแห่ง ล้วนมีจุดเด่น ด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่ใน CBD (ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ) ติดรถไฟฟ้า ซึ่งมีความต้องการสูง และ เอกลักษณ์ด้านการดีไซน์ออกแบบโครงการที่โดดเด่น เสริมนวัตกรรมการอยู่อาศัย ที่เข้าถึงความต้องการของคนเมือง และได้รับความนิยมสูงจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน 

 

เจาะ "ภาวะความยากลำบาก" ของ บมจ. อนันดา เกิดขึ้น จากการหดตัวของรายได้รวม ปี 2563 ที่ลดลงจาก 7,711 ล้านบาท เหลือ 5,243 ล้านบาท และมีผลดำเนินงาน ติดลบขาดทุน 206 ล้านบาท ขณะงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 จากอุปสรรคในการซื้อ และโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ทำให้ตัวเลข ขาดทุน อยู่ที่ 237 ล้านบาท ท่ามกลางการถอยตั้งหลักหลังติดฝา ไร้การเปิดโครงการใหม่ จากก่อนหน้าตั้งเป้าจะเปิด 5 โครงการ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท 

 

หน่ำซ้ำ ปี 2564 อสังหาฯรายใหญ่รายนี้ ยังเผชิญกับวิกฤติความเชื่อมั่น จากปัญหาคดีพิพาทโครงการหรูกลางเมือง "แอชตัน อโศก" (Ashton Asoke) หลังศาลปกครองกลาง พิพากษา มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ  คอนโดฯหรู ซึ่งมีมูลค่าราว 6.5 พันล้านบาท และขาย-โอนฯหมดแล้ว จากปมฟ้องร้องยาวนาน รวมแปลงที่ดิน ตัดทางเข้าผิดกฎหมาย เกิด ‘โดมิโนเอฟเฟคต์’ ต่อผู้อยู่อาศัย และความเชื่อใจของผู้ซื้อใหม่ อย่างไรก็ตาม นายชานนท์ ยืนยันต่อสื่อครั้งล่าสุด เชื่อ ปัญหานี้จะมีทางออก และลูกบ้านจะได้รับชัยชนะ หลังยื่นเรื่องเดินหน้าอุทธรณ์คำสั่งศาล

รีโอเพนนิ่งประเทศ  \"อนันดา\" ตุนกระสุน 8 หมื่นล้าน รีสตาร์ทธุรกิจ

รีโอเพนนิ่งประเทศจุดเปลี่ยนอสังหาฯ

อย่างไรก็ตาม ข่าวประกาศปิดการขายโครงการได้อย่างต่อเนื่องอย่างต่ำ 3 โครงการในปีนี้ ตอกย้ำ ว่าสินค้าของอนันดา ยังเป็นที่ต้องการของตลาด แม้ในช่วงเวลายากลำบาก อนันดาฯ เผย ยังได้รับการติดต่อซื้อ "บิ๊กล็อตคอนโด" จากลูกค้าต่างชาติ ซึ่งทันที 1 พ.ย. รัฐบาลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและผู้บริโภค

 

ยิ่งทำให้อนันดามั่นใจ ว่าตลาดอสังหาฯจะฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯในเมือง ที่ผูกพันกับไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัย และ ศูนย์กลางแหล่งทำงาน สะท้อนแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้า 300-320 สถานี ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า นั่นคือ Business Model ที่โควิดดิสรัปไม่ได้ และที่อยู่อาศัยในเมือง ยังเป็นที่ต้องการของวัยคนทำงาน เล่าเรียน ตลอดจนความนิยมลักชัวรีของต่างชาติ 

 

"เรียลเอสเตทไทย พ้นจุดต่ำสุดในไตรมาส 3 แล้ว ประเมิน กลางปีหน้า จะเป็นจังหวะที่ดีที่สุด 10 ปี ที่ผ่านมา เราบุกเต็มที ปีหนึ่งเปิดโครงการราว 3 หมื่นล้านบาท ขณะช่วงโควิด หากเปรียบบริษัทเป็นร่างกายคน เรากลับสู่ห้องยิม เพื่อฟิตร่างกาย ในเมื่อ ไทยแลนด์ รีโอเพนนิ่ง จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันบูสต์ความเชื่อมั่น ผ่านการลงทุนใหม่ๆ อนันดาเอง พร้อมตีกลองออกรบเช่นกัน "

 

จุดพลุคอนโดฯ 100ล. ปลุกคนรวย

นายชานนท์ เผยต่อ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เราคือ " เบอร์ 1 " ในตลาดคอนโดมิเนียม
ติดรถไฟฟ้าและเราจะทำมันต่อไป ผ่านการประกาศรีสตาร์ท การทำธุรกิจใหม่ เพื่อรีบาวด์รายได้และความเป็นตัวตน ลุยลงทุนใหม่ ไม่น้อยกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท ในแง่มูลค่าโครงการเปิดใหม่ ผ่าน 7 โครงการ  โดยเฉพาะในเซกเม้นท์ไฮเอนด์ หลังพบ เป็นตลาดที่มีความแข็งแกร่งด้านกำลังซื้อ พิจารณา 2 แบรนด์ใหม่คอนโดฯ 1 แบรนด์ใหม่แนวราบ นับเป็นการคิกออฟตลาดอสังหาฯ ผ่านแผนธุรกิจ ปี 2565 เป็นรายแรก อย่างน่าจับตามอง สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการได้มากทีเดียว 

รีโอเพนนิ่งประเทศ  \"อนันดา\" ตุนกระสุน 8 หมื่นล้าน รีสตาร์ทธุรกิจ

โดยเฉพาะ การปล่อยของ เผยโฉมภาพโครงการใหม่ ที่รอความชัดเจนของตลาด เตรียมรื้อที่ดินถนนพระราม 4  ติดอาคารศรีเฟื่องฟุ้ง - ดุสิตธานี ซึ่งถือเป็นสมรภูมิตลาดไฮเอนด์ในช่วงปีหน้า ปั้นคอนโดแบรนด์ใหม่ ระดับ ซูเปอร์ลักชัวรี ที่แพงและอนันดา ย้ำว่าดีที่สุด และแปลกที่สุดเท่าที่เคยทำมา นอกจากโครงการตั้งอยู่บนที่ดินฟรีโฮลด์ เทควิวสวนลุมพินี 100% ไฮไลท์สำคัญ 20 ยูนิต (ชั้นละ 1ห้อง ) จะถูกออกแบบเป็นกระจกใสโค้งเว้า นำเข้าจากต่างประเทศ รูปแบบยื่นออกไปนอกตัวอาคาร คล้ายบับเบิลทรงกลม ประเมินราคาขายอย่างต่ำมี 100 ล้านบาท 

 

"ช่วงโควิด พบคนมีเงิน รวยขึ้นอีก ตลาดไฮเอนด์กลับมาแน่ ทั้งคนไทยและต่างชาติ ขณะความพึงพอใจของคนระดับนี้ ไม่ใช่ราคา แต่เป็นรายละเอียดที่แตกต่าง ทุกอย่างเป๊ะ ทำเลนี้ ไม่มีคู่แข่งในลักษณะฟรีโฮลด์ คาดราคาขายเฉลี่ย 4 แสนต่อตร.ม. พร้อมดึงเชนโรงแรม ปั้นเป็นแบรนด์เด็ด เรสซิเดนท์ ซึ่งหากโอกาสมาพร้อมเปิดทันที"

รีโอเพนนิ่งประเทศ  \"อนันดา\" ตุนกระสุน 8 หมื่นล้าน รีสตาร์ทธุรกิจ

อีกหนึ่งโครงการที่น่าจับตา คือ โครงการพลูวิลล่า ยกบ้านมาตั้งอยู่บนคอนโดฯ ดูเพล็กซ์ 2 ชั้น โดยทุกยูนิต มีพลูวิลล่าทุกหลัง ไม่เกิน 4 ยูนิตต่อชั้น ทั้งหมด 40 ยูนิต ราคาขายเบื้องต้นเริ่ม 50-100 ล้านบาท เป็นความแน่วแน่ ว่าจะไม่พัฒนาโครงการทับซ้อนกับสต็อกเดิมของตัวเอง และคู่แข่งในตลาด เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและโอกาสในการขาย 

 

ดันพอร์ต 8 หมื่นล.ฟื้นธุรกิจ

ขณะมือขวาคนสำคัญ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดา เผยว่า ความมั่นใจในการฟื้นธุรกิจ และ และสร้างความคึกคักให้อสังหาฯ ช่วงปี 2565 คือ พอร์ตโครงการอสังหาฯ เพื่อขายและเพื่อเช่า มูลค่ารวมกันกว่า 8 หมื่นล้านบาท (รวมร่วมทุน) โดยแบ่งเป็น โครงการที่อยู่ระหว่างการขาย (สต็อก) 34 โปรเจ็กต์  มูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท , โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท และโครงการเตรียมเปิดใหม่ 7 โปรเจ็กต์ อีก 2.8 หมื่นล้านบาท ที่กล่าวไปข้างต้น  รวม เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ ที่จะเปิดให้บริการครบ 5 แห่ง ในปีหน้า อีกมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท คือ กระสุนสำคัญที่จะใช้สู้ศึกอสังหาฯ ในปี 2565 ท่ามกลางความเชื่อ เศรษฐกิจมีสัญญาณบวก และโอกาสในบลูโอเชี่ยนใหม่ๆ

 

" โครงการใหม่ในปี 2565 เป็นภารกิจย่อยแลนด์แบงก์  10 แปลง ไปสู่ บลูโอเชี่ยนทางธุรกิจ ผ่านการเติม DNA ของอนันดาเข้าไป ให้เกิดความแตกต่าง และฉีกจากสิ่งที่เราเคยทำมา เรามีโอกาสทั้งในตลาดบ้าน และ คอนโดฯ พบคู่แข่งในวงการ จาก 188 ราย ช่วงโควิดล้มหายตายไปเหลือ เพียง 70 รายเท่านั้น ฉะนั้น กำไรจะดีขึ้น และโอกาสขายมีมากกว่าเดิม "


พาร์ทเนอร์ธุรกิจจุดแข็งต่อยอด

พิจารณาจุดแข็งของอนันดาฯ หากยังเป็นเรื่องของพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย บริการ ระดับชั้นนำในประเทศ และอินเตอร์เนชั่นแนล เช่น มิตซุย ฟูโดซัง, บีทีเอส กรุ๊ป, เพรซิเดนท์ ดี เวนเจอร์, ดุสิตธานี, สแครทช์ เฟิร์สท์  และ ดิ แอสคอทท์

 

ล่าสุด ได้รับความสนใจของสังคมอีกครั้ง หลังดึงธุรกิจโรงแรมใหญ่ "ดุสิตธานี" พลิกโฉม โครงการ Ideo Mobi พระราม 4 สู่แบรนด์  COCO PARC ที่กำหนดสร้างเสร็จในปีหน้า จุดเด้นสวนขนาดใหญ่ ถึง 2 สวน ทั้งสวนลุมพินี และส่วนป่าเบญจกิติ มูลค่าโครงการ 4,622 ล้านบาท เอกสิทธิ์เพียง 486 ครอบครัว ซึ่งนายชานนท์ เผยว่า คือ การลงทุนด้านซอฟแวร์ ชูบริการของดุสิตธานี สร้างมาตรฐานใหม่ให้โครงการ 

 

ขณะ สิ่งที่น่าจับตามองอีกขั้น ของอนันดา ซึ่งคาดจะหนุนต่อธุรกิจอสังหาฯในอนาคตได้อย่างดี คือ การพลิกตัว เข้าสู่ "ตลาดเงินดิจิทัล" เตรียมเปิดตัว สะเทือนวงการในวันที่  1 ธ.ค. นี้ ผ่านการร่วมมือกับยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของวงการสตาร์ทอัพเมืองไทยอย่าง “Bitkub” คาดเป็นการประกาศ ปั้น " ศูนย์บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล" หลังนายชานนท์ ตีโจทย์ใหม่ "อสังหา" ในอนาคต ไม่ใช่ ทำเลที่ตั้งอีกต่อไป แต่เป็น "ไทม์มิ่ง" หรือ เวลา ฉะนั้น รูปแบบการลงทุนจะเปลี่ยนไป เทียบอาจได้เห็น ตึกสร้างเสร็จใหม่ ผูกโฉนดย่อยกับโทเคน ปูทางคอนโดฯ 5 ล้านบาท เจ้าของหลายคน ดิสรัปทั้งการปล่อยสินเชื่อ , การระดมทุน และการเป็นเจ้าของ เป็นต้น