29 พ.ย. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้หารือถึงผลกระทบจากการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อพัฒนาพื้นที่ และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณาการดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดส่งผลกระทบถึงประชาชนน้อยที่สุด โดยให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น
ทางกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เร่งดำเนินการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและหาข้อสรุปการใช้งาน และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ให้สามารถตอบโจทย์การดำเนินงานในทุกมิติได้อย่างแท้จริง และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน
โดยการพัฒนาพื้นที่จะไม่มีการทุบหรือรื้อทิ้งสิ่งปลูกสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพง และจากการประเมินรายได้ในอนาคตในระยะเวลา 30 ปี พบว่าจะมีรายได้เข้ามารวม 800,000 ล้านบาท โดยในปีแรกจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ของรถไฟที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง
สำหรับปัญหาการเดินรถไฟเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน รัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหา และวางแนวทางแก้ไขโดยได้พัฒนาโครงการสถานีกลางบางซื่อขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของระบบคมนาคมโดยเฉพาะระบบราง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และเมื่อการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จ จึงให้มีการปรับการเดินรถเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงคมนาคมได้มีการจัดทำระบบขนส่งมวลชนรอง เช่น รถเมล์ ขสมก. รวมถึงประสานงานกับภาคเอกชนที่มีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในการอำนวยความสะดวกและเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน
"นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง โดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนให้ทั่วถึง" โฆษกรัฐบาล กล่าวพร้อมยืนยันว่า
รัฐบาลตั้งมั่นตามแนวนโยบายที่จะดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด