สถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) นอกจากเป็นสถานีรถไฟแห่งแรกของประเทศแล้ว ยังมีความงดงาม ทางสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าหลายจุดที่ต้องอนุรักษ์ไว้ ควบคู่ไปกับความเป็นศูนย์กลางการคมนาคมให้บริการประชาชนผู้ใช้บริการต่อไป
รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวในวงเสวนาการอนุรักษ์และพัฒนาสถานีหัวลำโพงจัดขึ้นโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ ว่า ด้านคุณค่าที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดพื้นที่สถานีหัวลำโพงนั้น ซึ่งมีคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมและสุนทรียะที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมสมัยใหม่ และมีคุณค่าด้านศิลปกรรม บริเวณแผงกระจกกั้นหน้าจั่วทั้งด้านหน้าและด้านหลังของสถานีฯ
ในช่วงสมัยก่อนถือเป็นแผงกระจกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของสถาปัตยกรรมไทยในการใช้กระจกขนาดใหญ่ร่วมกับสถาปัตยกรรม อีกทั้งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯยุคใหม่อย่างชัดเจน และยังเป็นพื้นที่สาธารณะและด้านการขนส่งให้แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกันและสามารถอยู่ร่วมกับปัจจุบันได้
ผศ.ปริญญา ชูแก้ว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สำหรับส่วนประกอบภายในสถานีหัวลำโพงทั้งหมด 4 ส่วน ประกอบด้วย
1.บริเวณโถงกลาง 2.บริเวณทางเข้า 3.โรงแรมราชธานี 4.ทางลงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมอื่นอีก เช่น อนุสาวรีย์ปฐมฤกษ์ของรัชกาลที่ 5 , โรงซ่อมรถจักรขนาดใหญ่,สถานีตำรวจนพวงศ์,ตึกบัญชาการรฟท.,อาคารสโมสรรฟท.,อาคารพัสดุ ขณะเดียวกันรฟท.ไม่มีฐานข้อมูลและแผนแม่บทในการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่ชัดเจน หากรฟท.ต้องการก่อสร้างโครงการใดโครงการหนึ่งจะใช้รูปแบบการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการแทน
การเดินทางของสถานีหัวลำโพงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยพบว่าข้อดีค่าตั๋วเดินทางราคาถูก ประชาชนเข้าถึงได้ แต่ข้อเสียคือรฟท.ไม่มีรายได้ เพราะไม่ได้ขึ้นราคาตั๋วเดินทาง ทำให้รฟท.ต้องนำที่ดินไปพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ ในฐานะคนเดินทางด้วยรถไฟยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้รถไฟเพื่อเดินทางเข้าเมือง หากไม่มีรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ทำให้ประชาชนเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้นจากการเดินทางขึ้นรถไฟฟ้าแทน
ตามแผนของรฟท.มีแผนสร้างรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง แต่ยังดำเนินการสร้างไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ แต่จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ปัจจุบันสถานีหัวลำโพงยังเป็นศูนย์กลางกาคมนาคมขนส่งทางราง ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังมีพื้นที่บางส่วนที่สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อ หากมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกลางฯ ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ เชื่อว่าจะทำให้รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้น