นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 8/2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานการให้บริการหลังการเปิดบริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) อย่างเป็นทางการ และการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล ว่า กรณีที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายการปรับรถไฟขบวนทางไกลเข้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เหลือ 22 ขบวน ในวันที่ 23 ธ.ค.นั้น เบื้องต้นที่ประชุมได้มีข้อสั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจัดทำเช็คลิสต์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องร่วมให้คำแนะนำ เพื่อตรวจสอบผลกระทบกับประชาชน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อของประชาชนและการขนส่งสินค้า การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและความปลอดภัยในการเดินรถ โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน
“การดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามผลการศึกษา ข้อกฎหมาย มติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง ก่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องต่อไป โดยในระหว่างการดำเนินการดังกล่าวให้ รฟท. ยังคงรูปแบบการเดินรถไฟทุกขบวนเข้าสู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทั้งขบวนรถเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมตามเดิม รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ใช้บริการทราบต่อไป”
นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้เริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 โดยปัจจุบันรถไฟสายสีแดงมียอดผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 10,267 คน ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2564 โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีผู้โดยสารรวม 265,038 คน ซึ้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.96 จากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ รฟท. ได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาลักลอบตัดสายอาณัติสัญญาณในระบบรถไฟฟ้า เช่น การเฝ้าระวังจากระบบเตือนที่ศูนย์ควบคุม จัดให้มีการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น และในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนที่เพิ่มขั้นอย่างต่อเนื่องและรองรับการให้บริการรถไฟทางไกลของ รฟท. ในอนาคต
ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 โดยได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็นในการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ และการเปลี่ยนผ่านการเป็นสถานีหลักในการเชื่อมต่อระบบรางของประเทศจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)ไปยังสถานีกลางบางซื่อ และการพัฒนาสถานีหัวลำโพงในอนาคต ซึ่ง รฟท. จะได้นำข้อเสนอจากภาคประชาชนจากการรับฟังความคิดเห็นเพื่อไปปรับปรุงการดำเนินการให้มีความเหมาะสมในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรังสิต หรือระบบฟีดเดอร์ (Feeder) ต่อไป