5 ม.ค.2565 - หากกล่าวถึงโครงการมิกซ์ยูสกลางเมือง 24 ชั่วโมงของไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก โครงการ "สามย่านมิตรทาวน์" 1 ในโปรเจ็กต์บุกเบิก เชิงพาณิชยกรรม ที่อยู่ภายใต้ พอร์ต อสังหาริมทรัพย์ครบวงจรขนาดใหญ่ มูลค่าแสนล้านบาท
ของบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ โดยมีบริษัทย่อยอย่าง บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) หรือ FPCT เป็นผู้ดูแล ซึ่งโครงการดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในเดสติเนชัน ที่ต้องมาเช็คอินของคนกรุงเทพฯ
สำหรับปี 2565 นี้ ในสนามการแข่งขันอย่างดุเดือด ของแวดวงอสังหาริมทรัพย์ไทย บนถนนสีลม นั้น FPCT ก็ประกาศเตรียมเดินหน้าสร้างสีสันใหม่ ให้แก่วงการธุรกิจรีเทล ผ่านโครงการใหม่ ‘สีลมเอจ’ (Silom Edge) เช่นกัน ซึ่งเป็นการรีโนเวท ตึกโรบินสันสีลมเก่า บริเวณหัวมุมถนนสีลม–พระราม 4
ภายในโครงการประกอบไปด้วยพื้นที่ 2 โซนหลัก คือ โซนอาคารสำนักงาน เริ่มตั้งแต่ชั้น 10-21 และโซนพื้นที่ค้าปลีก สู่พื้นที่สังคมแซนด์บ็อกซ์แห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพ และ ถูกวางเป้าหมายไว้ว่า "เป็นสวรรค์ของนักขับหน้าใหม่" ที่เข้าใจสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างแท้จริง
ล่าสุด นางสาวธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล FPCT เปิดเผยถึง แผนการขยายพอร์ตของกลุ่มธุรกิจว่า แม้ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ แต่ FPCT ยังคงรักษาอัตราผู้เช่าในโครงการสามย่านมิตรทาวน์ ไว้ในระดับสูงที่ 98%
โดยหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศคลายล็อคดาวน์ โครงการสามย่านมิตรทาวน์ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการในโครงการเพิ่มขึ้นทุกวันเฉลี่ย 55,000 คน/วันสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของลูกค้าที่มีต่อมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการ ประกอบกับการดำเนินงานเชิงรุก หรือ Fluid Approach ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดทราฟฟิคให้กับศูนย์การค้าฯ เน้นการจับกระแสอย่างรวดเร็ว แล้วลงมือสร้างกิจกรรมทางการตลาดผ่านแคมเปญต่างๆ อย่างทันท่วงที
สีลมเอจ เปิด ก.ย.65 คาดผู้ใช้บริการ 4 หมื่นคน/วัน
ขณะศักราชใหม่ ตามโรดแมป เตรียมเปิดบริการ "สีลมเอจ" ในช่วงเดือน ก.ย.2565 ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานและรีเทล 7 ชั้น รวมพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร พร้อมโซนเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืนทุกวัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ รองรับกลุ่มผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่ต้องการทดสอบตลาดและวางจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มแซนด์บ็อกซ์ด้านรีเทล ทั้งยังส่งเสริมการทำธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัล (Cashless Society) และสนับสนุนการชำระค่าบริการด้วย คริปโตฯ อีกด้วย
" ปัจจุบันสีลมเอจอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ แผนก่อสร้างเป็นไปตามกำหนด และจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนกันยายนปีนี้ พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทุกช่วงเวลา ด้วยโซนรีเทลที่ทำการเปิดตั้งแต่ 11:00 น. ถึงเที่ยงคืน และโซนพิเศษ 2 ชั้นแรกที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรองรับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา และเครื่องจำหน่ายสินค้าคุณภาพด้วยระบบอัตโนมัติ คาดมีผู้ใช้บริการต่อวันไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นคน"
ทั้งนี้ ยอมรับสถานการณ์โควิด19 ที่ระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเปลี่ยนในแง่พฤติกรรมผู้เช่า และผู้เข้าใช้บริการ ทำให้ตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะกลุ่มพื้นที่รีเทล -ค้าปลีก ต้องปรับตัวอย่างมาก กลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ ของผู้พัฒนา ที่ต้องบริหารจัดการพื้นที่ให้ตอบโจทย์การจับจ่ายใช้สอยตามเทรนด์ต่างๆ และความต้องการด้านพื้นที่ของผู้เช่าที่ลดลง ไม่นับรวมข้อจำกัดในการทำธุรกิจ จากมาตรการปิดประเทศ การสั่งเปิด-ปิด ศูนย์การค้า ตามมาตรการของรัฐที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการหายไปของกลุ่มลูกค้าต่างชาติอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัท กลับมีความมั่นใจในแง่ศักยภาพของทำเลที่ตั้งโครงการ สีลมเอจ ซึ่งอยู่กึ่งกลางเมือง ร่ายล้อมไปด้วยแหล่งที่อยู่อาศัย สำนักงานขนาดใหญ่ สวนลุมพินี รพ.จุฬาฯ มีผู้สัญจรผ่านไปมา BTS 8 หมื่นคนต่อวัน ขณะ MRT ราว 4 หมื่นคนต่อวัน ตอบรับไลฟ์สไตล์ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยมีกลุ่มผู้ใช้บริการหลากหลาย เช่น กลุ่มคนทำงานในละแวกดังกล่าว ,บุคลากรทางการแพทย์ ,ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า , กลุ่มคนออกกำลังกาย และ ต่างชาติที่แวะเชื่อมต่อไปยังย่านสำคัญ อย่าง เยาวราช เป็นต้น คาดจะมีผู้เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ราว 4-5 หมื่นคนต่อวัน
" ปัจจุบันสีลมเอจอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ และจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนกันยายนปีนี้ โดยพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทุกช่วงเวลา ด้วยโซนรีเทลที่ทำการเปิดตั้งแต่ 11:00 น. ถึงเที่ยงคืน และโซนพิเศษ 2 ชั้นแรกที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรองรับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา และเครื่องจำหน่ายสินค้าคุณภาพด้วยระบบอัตโนมัติ"
อะไรคือความท้าทาย?
สำหรับภาพรวมตลาดรีเทลในปี 2565 นั้น นางสาวธีรนันท์ กล่าวว่า ภาพรวมหลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ ช่วง ก.ย.2564 ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง แม้เป็นช่วงที่ ต่างชาติหายไปหมด แต่กลุ่มที่กลับมาอย่างชัดเจน คือ นักช้อปชาวไทย ยอมรับตลาดรีเทลมีการแข่งขันที่สูง ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ มีรูปแบบการให้บริการตอบรับกับผู้คนแบบไหน ส่วนสถานการณ์ "โอมิครอน" อีกตัวแปรใหม่ ยังไม่มีความกังวล เนื่องจากบริษัทวางมาตรฐานดูแลความสะอาดและปลอดภัยอยู่แล้ว มองไปข้างหน้า ทุกๆครั้งที่หมัดชกเข้ามา เราแทบไม่กังวล เพราะมีแผนรองรับ ทั้งการสั่งเปิด และ ปิด ตามมาตรการ
"ย้อนไปครั้งเปิดโครงการสามย่านมิตรทาวน์ เราใช้เวลา 3 ปี ในการปั้น ขณะสีลมเอจ เกิดมาใช้ช่วงล็อกดาวน์ การทำงานเป็นไปด้วยข้อจำกัด แต่เรามั่นใจ และจะคิกออฟได้ตั้งแต่ปี 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อ เจรจา และการเข้ามาดูพื้นที่ของผู้ที่สนใจ ซึ่งในแง่รายได้ กลุ่มธุรกิจรีเทลเอง สัดส่วนในระยะสั้นยังไม่ได้มากพอ แต่ในอนาคต กลุ่มธุรกิจนี้จะเป็นส่วนเติมเต็ม และสร้างการเติบโตของพอร์ตใหญ่ เฟรเซอร์สฯ เช่นเดียวกัน เราอยู่ระหว่างมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อต่อยอดพื้นที่เพิ่มเติม จากสามย่านมิตรทาวน์ และสีลมเอจ "
" หัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จในยุคที่ธุรกิจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายและ ความไม่แน่นอน คือการทลายทุกข้อจำกัด และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อยู่เสมอ ด้วยการปรับกลยุทธ์และแผนการตลาดอย่างทันท่วงที จะทำให้สามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ เรายังปรับการดำเนินธุรกิจแบบ B2B เป็นแบบ Partnership ที่ช่วยให้เราใกล้ชิดกับลูกค้ามายิ่งขึ้น "
ส่อง 4 แนวทางความแตกต่างของโครงการสีลมเอจ
บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับ ปัจจุบัน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล ประเทศไทย มีพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแล รวมทั้งสิ้น 6 อาคาร ได้แก่ อาคารสีลมเอจ อาคารสามย่านมิตรทาวน์ อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ อาคารโกลเด้นแลนด์ และภายใต้ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ได้แก่ อาคารสาทรสแควร์ และอาคารปาร์คเวนเชอร์ คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 260,000 ตารางเมตร มีพนักงานของบริษัทฯ ผู้เช่าชั้นนำในประเทศไทยและต่างประเทศกระจายในหลากหลายธุรกิจซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 50,000 คนต่อวัน นับเป็นผู้นำกลุ่มพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมลำดับต้นๆ ของประเทศ