ลดค่าโอน-จดจำนอง อสังหา รอโอนทะลัก2.5หมื่นล้าน บ้านมือสอง-NPA รับอานิสงส์

20 ม.ค. 2565 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 07:30 น.

ลดค่าโอน-จดจำนอง 0.01% บ้านใหม่-มือสอง-NPA ไม่เกิน 3 ล้าน ได้อานิสงส์ ม.ค. เดือนเดียวรอโอนทะลัก 2.5 หมื่นล้านหลังเกิดสุญญากาศ นานครึ่งเดือนฉุดคนซื้อบ้านชะลอ ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กอ่วม สมาคมอสังหาใต้ตอนบน-หอการค้าขอนแก่นกระทุ้ง เลขาธิการครม. กรมที่ดินย้ำได้ผล

 

"มาตราการลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง " การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลอนุมัติ ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดิน ออกประกาศลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยทั้งมือหนึ่งและมือสอง ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทจาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% เพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนผู้ซื้อบ้านต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม-31ธันวาคม2565 ส่งผลให้ผู้ซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมที่ชะลอโอนกรรมสิทธิ์เดือนมกราคม ไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทราว 1 หมื่นหน่วย กลับมาคึกคักเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้งโดยเฉพาะบ้านมือสองที่คราวนี้ได้อานิสงส์ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีประมาณเกือบ 7 หมื่นหน่วยมูลค่า ราว 1 แสนล้านบาท

กระทุ้ง ประกาศลดโอน

                ย้อนไปก่อนหน้านี้ ช่วงที่ ประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้ง 2 ฉบับยังไม่ประกาศใช้ได้เกิดภาวะสูญญากาศนานกว่าครึ่งเดือน ผู้ประกอบการ ที่ต้องการโอนที่อยู่อาศัย เพื่อนำเงินกลับมาหมุนเวียนในระบบ ได้รับผลกระทบเพราะ ผู้ซื้อ ชะลอโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อรอ มาตราการลดหย่อน

                นายพิริยะ ธานีรณานนท์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้ตอนบน (จังหวัดชุมพร, ระนอง และสุราษฎร์ธานี) ได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดการประกาศมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนฯ/ค่าจดจำนองจึงทิ้งช่วงนานซึ่งต่างจาก ปีก่อนหน้าที่ทันทีคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติ จะบังคับใช้ในช่วงต้นปีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลให้ได้ติดต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายกฎหมายกรมที่ดินต่างให้คำตอบว่า

เรื่องได้ส่งไปที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีิ (สลค.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม จากนั้นยังสอบถามสลค.ว่าประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร่งด่วนโดยทันทีได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้ผล โดยนายพิริยะให้เหตุผลว่า หากผู้ซื้อชะลอโอนเพียงวันเดียว อาจทำให้บางบริษัทขาดสภาพคล่องมีหนี้ที่เกิดจากดอกเบี้ยพอกพูนได้

ลดค่าโอน-จดจำนอง อสังหา รอโอนทะลัก2.5หมื่นล้าน บ้านมือสอง-NPA รับอานิสงส์

ใต้ตอนบน-อีสานสะพัดหมื่นล้าน

                จากการประเมินของอสังหาฯ ที่รอโอนฯ ที่อั้นมาจากต้นปีในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน นายพิริยะประเมินว่า เกือบ 1 หมื่นล้านบาท กว่า 3,000 หน่วย ที่จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจอสังหาฯและลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ซื้อบ้านในพื้นที่ได้ เช่น 1 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการโอนฯ จาก 2 หมื่นบาทเหลือ 200 บาท ค่าจดจำนอง จาก 10,000 บาทเหลือ 100 บาท เป็นต้น

                สอดคล้องกับ นายชาญณรงค์ บุริสตระกูลประธานหอการค้าขอนแก่น ระบุว่า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีที่อยู่อาศัยรอโอนราวกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มีทั้งบ้านแนวราบและแนวดิ่งเนื่องจากขอนแก่นเป็นจังหวัดหัวเมืองใหญ่มีแหล่งงานคนต่างถิ่นเข้าพื้นที่จำนวนมากเช่นข้าราชการ นักธุรกิจที่ต้องการที่อยู่อาศัยหลังที่สองหากการลดค่าโอน-จดจำนองบังคับใช้คาดว่าจะช่วยให้ผู้ซื้อตัดสินใจมากขึ้น

จูงใจคนเงินเย็น-รุ่นใหม่

                ด้านนาง อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า มาตราการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลช่วยให้เกิดการจูงใจกลุ่มเงินเย็นลงทุนในคอนโดมิเนียมและกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมไม่เกิน 3 ล้านบาทจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ทั้งนี้ในภาพรวมเดือนมกราคมประเมินว่าจะมีที่อยู่อาศัยรอโอนทั้งหมด กว่า 4 หมื่นหน่วย 25% ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท 

ม.ค.รอโอน2.5หมื่นล้าน

  ขณะการประมาณการของ นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ตัวเลขที่อยู่อาศัยรอโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2565 ช่วงไตรมาสแรก ทุกระดับราคาแยกเป็นรายเดือน พบว่า เดือนมกราคม มีจำนวน 2 หมื่นหน่วย มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์จำนวน 2.5 หมื่นหน่วย มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท และเดือนมีนาคม จำนวน 3.6 หมื่นหน่วย มูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้เดือนสุดท้ายเป็นธรรมชาติของผู้ประกอบการเร่งปิดผลประกอบการอย่างไรก็ตามในจำนวนนี้ 50% ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ดังนั้นในเดือนมกราคม จะมีที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านได้อานิสงส์รอโอน 2.5 หมื่นล้านบาทประมาณ 1 หมื่นหน่วย สำหรับสาเหตุ ความล่าช้าของประกาศลดหย่อนค่าโอน/จดจำนอง อาจมีการเพิ่มเติม กรณีบ้านมือสองเข้าไปทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรอบคอบ

บ้านมือสองได้อานิสงส์

  “ฐานเศรษฐกิจ” เจาะข้อมูล รายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบปัจจุบันมี “ที่อยู่อาศัยมือสอง” ทั่วประเทศ (บ้านเดี่ยว, ห้องชุด, ทาวน์เฮ้าส์, อาคารพาณิชย์ และบ้านแฝด) ที่ประกาศขายบนเว็บไซต์ นับรวมทรัพย์ NPA (สินทรัพย์รอการขาย)ของสถาบันการเงิน

บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ และกรมบังคับคดี เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 1.29 แสนหน่วย (รวมทุกระดับราคา) มูลค่ากว่า 8.62 แสนล้านบาท ส่วนกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์จากประกาศฉบับนี้ กลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทนั้น มีจำนวนเกือบ 7 หมื่นหน่วย มูลค่าราว 1 แสนล้านบาท

กรมที่ดินย้ำมาตรการได้ผล

ด้านนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน ระบุ ประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้งสองฉบับ ขณะนี้ มีผลบังคับใช้แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม-31ธันวาคม 2565 จะสร้างผลดีให้กับระบบเศรษฐกิจลดภาระประชาชนผู้ซื้อบ้านโดยที่ผ่านมาได้สอบถาม สถาบันการเงินประมาณ 4-5 แห่ง ยอมรับว่า ผู้ซื้อบ้านได้มีการชะลอโอนเพื่อรอประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้ง 2 ฉบับ สะท้อนว่า มาตรการดังกล่าวได้ผล

โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจรวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 อีกทั้งยังเพื่อประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 กระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว