การเทรดคริปโตเคอร์เรนซี่ที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่มีการพูดถึงมากขึ้น เนื่องจากหลายคนว่างงาน หรือไม่มีงานประจำทำจึงหารายได้จากทางอื่น ซึ่งการเทรดคริปโตฯ เป็นกระแสและมีความน่าสนใจในเรื่องของรายได้หรือผลตอบแทนจากการเทรดและมีการพูดถึงแพร่หลายในโลกออนไลน์รูปแบบต่างๆคนจำนวนหนึ่งจึงเข้าสู่ตลาดคริปโตฯและมีผลให้กระแสของคริปโตฯขยายวงกว้างออกไปจากที่เคยอยู่ในวงจำกัดก่อนหน้านี้
การเพิ่มขึ้นของมูลค่าเหรียญคริปโตฯบางสกุลที่ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งมีเงินก้อนรวมไปถึงมีเงินเก็บมากกว่าการทำงานประจำที่ผ่านมาภายในชั่วข้ามคืนหรือบางคนอาจจะสะสมกำไรเป็นรายเดือนไปเรื่อยๆ จนมีเงินก้อนที่มากพอในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งในโลกปัจจุบันสำหรับคนที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีความเสี่ยงของการขึ้นลงของคริปโตฯ นั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะพวกเขาเลือกที่จะเป็นคนกำหนดเองว่าจะเข้า-ออกช่วงไหน
อีกทั้งยังใช้เวลาในการรอไม่นาน ไม่เหมือนการลงทุนในอดีตที่ต้องรอกันมากกว่า 1 – 5 ปีหรือนานกว่านั้นสำหรับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ นาฬิกา พระเครื่อง เป็นต้น การเหวี่ยงขึ้น-ลงของเหรียญคริปโตฯ และการเข้ามาลงทุนของคนมีชื่อเสียง รวมไปถึงการเข้ามาส่วนร่วมกับบริษัทที่สร้างแพลตฟอร์มการเทรดคริปโทฯ
ของธนาคารไทยบางธนาคารยิ่งเป็นการสร้างกระแสความตื่นตัว เหมือนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าตลาดคริปโตฯ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ยิ่งหลายธุรกิจพยายามดึงคนที่มีเหรียญคริปโตฯ ในพอร์ตมาซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นสินค้า บริการของธุรกิจตนเอง เท่ากับว่าเป็นเสมือนการยอมรับว่าเหรียญคริปโตฯ มีตัวตนหรือเป็นที่ยอมรับในโลกจริงมากขึ้น แม้ว่าในหลายประเทศจะแบนการใช้เหรียญคริปโตฯ ในประเทศตนเองแบบสิ้นเชิง
การที่กรมสรรพากรระบุว่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นคริปโตฯ และโทเคนดิจิทัล หากมีการขายแล้วได้กำไร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4) ซึ่งจัดอยู่ในหมวดของการลงทุนรูปแบบเดียวกันกับดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งผู้ขายมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ค่อนข้างมาก แต่เรื่องนี้เป็นกระแสและสร้างความขัดแย้งพอสมควร เนื่องจากคนที่ขายคริปโตฯ
เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินเข้าบัญชีตนเองต้องเสียภาษี 15% ทันที แม้ว่าจะเป็นการต่ำกว่าราคาที่ซื้อมา หรือขายขาดทุนก็ตาม เพราะสรรพากรระบุว่าทุกการซื้อขายต้องเสีย 15% ไม่ได้ดูในภาพรวมหรือไม่ได้มีการคิดอัตราภาษีแบบคงที่ต่อมูลการเทรดที่กำหนดแบบเกาหลีใต้ หรือมีอัตราการเก็บภาษีที่แตกต่างกันแบบในสหรัฐ อเมริกาที่เก็บภาษีการเทรดระยะสั้นอัตราหนึ่ง และระยะยาวอีกอัตราหนึ่ง ซึ่งของประเทศไทยอาจจะด้วยกฎหมายที่บังคับใช้ปัจจุบันปรับแก้ไม่ทันการณ์ เลยมีการกำหนดเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับรูปแบบของตลาดคริปโตฯ
สำหรับมุมมองของคนที่มีเหรียญคริปโตฯ ในพอร์ตนั้น คงมีการย้ายไปถือพอร์ตที่อยู่บนแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่มีการตรวจสอบจากระบบในประเทศไทย เพราะการซื้อขายคริปโตฯ จะเป็นแบบ Peer to Peer หรือเป็นการโอนเงินระหว่างคนซื้อและคนขายโดยตรง สำหรับเรื่องนี้อาจจะมีผลต่อคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดคริปโตฯ และเทรดผ่านระบบในประเทศไทย ซึ่งการจะนำเงินออกจากตลาดคริปโตฯปัจจุบันเพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสินค้าอื่นๆ ก็อาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม
เนื่องจากตลาดคริปโตฯ อยู่ในช่วงขาลงหรือเคลื่อนไหวอยู่ในอัตราที่ต่ำมากๆ อาจจะต่ำกว่าต้นทุนของคนจำนวนไม่น้อยที่เพิ่งเข้าตลาดในช่วงปีที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้คงไม่นำเงินออกมาใช้แลกเปลี่ยน ยกเว้นว่าต้องการออกจากตลาดคริปโตฯ จริงๆ แต่ดูแล้วคงไม่นำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายเป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับกลุ่มคนที่ลงทุนในคริปโตฯ มานานมากกว่า 2 ปีนั้นไม่ได้สนใจว่าช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงขาลงของตลาด แต่พวกเขามองว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสม
ในการเก็บเหรียญเข้าพอร์ต และมองเรื่องของภาษีเป็นเรื่องของระบบในประเทศ ถ้าใช้ระบบนอกประเทศไทยก็ไม่สนใจเรื่องนี้ การที่สรรพากรออกมากล่าวถึงเรื่องภาษีกับตลาดคริปโตฯ อาจจะไม่ได้มีจุดประสงค์ที่ต้องการเก็บภาษี แต่เป็นการออกตัวให้คนที่ลงทุนในตลาดคริปโตฯ รับรู้เบื้องต้นว่า การเทรดคริปโทฯ ในประเทศไทยจะมีความลำบาก และซับซ้อนมากว่าที่ผ่านมาแล้วนะ หรือบอกเป็นนัยๆ ว่า
รัฐบาลโดยสรรพากรไม่สนับสนุนเรื่องนี้มากกว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องรอคอยการนำคริปโตฯ มาซื้อขายแบบจริงจังต่อไป ที่ผ่านมาเหมือนเป็นเพียงการตลาดของแต่ละผู้ประกอบการมากกว่า และต้องการดึงกลุ่มคนต่างชาติที่มีเหรียญคริปโตฯ และใช้ในประเทศตนเองไม่ได้ให้มาใช้ในประเทศไทย แต่เมื่อมีเรื่องของภาษีตรงนี้เพิ่มเติมเข้ามาก็อาจจะมีการะงักเพราะต้องจ่ายภาษีและมูลค่าการใช้จ่ายลดลงด้วยเช่นกัน