กลุ่มธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของไทย อย่าง เอสซีจี (SCG) นับว่ามีความท้าทายอย่างสูงสุด ภายใต้การดำเนินธุรกิจของบริษัทแม่ มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Economy
โดยปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG วางงบลงทุนไว้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 1 หมื่นล้านบาท (ครอบคลุม 3 ธุรกิจ) ขับเคลื่อน ประกาศจุดยืน แนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ 1. Net Zero 2.Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4.ย้ำร่วมมือ และ Plus เป็นธรรม โปร่งใส จากเดิมที่ใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SD) เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจซีเมนต์ สู่ Net Zero
นายชนะ ภูมี Vice President - Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า บริษัทได้กำหนดแผนการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ได้ปรับทิศทางธุรกิจไปสู่ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
เจาะตัวอย่าง การพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด นวัตกรรมปูนซีเมนต์รักษ์โลก ด้วยมาตรฐานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก รายแรกของไทย ที่มีการนำเชื้อเพลิงชีวมวล และลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวน การผลิตได้ถึง 0.05 ตัน CO2 ต่อปูน 1 ตัน และในส่วนของ CPAC Low Carbon Concrete ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตได้ถึง 17 กิโลกรัม CO2 ต่อคอนกรีต 1 คิว
“บริษัทจะต่อยอดยุทธศาสตร์หลักของ SCC ความจริงจังของเรา เริ่มตั้งแต่การเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลของไทย ซึ่งมีแนวทางขับเคลื่อนชัดเจน จะทำอย่างไรช่วยประเทศลด Co2 ขณะธุรกิจซีเมนต์ ดำเนินมากว่า 30 ปี มีการ ปรับสูตร ปรับตัว รับต่อเทรนด์โลกและหวังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตลอด เป้าหมายสูงสุด คือ ยกเลิกปูนถุงแบบเดิมๆ เปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งประเทศ ส่วนอื่นๆ ตั้งแต่ใช้พลังงานลมร้อนเหลือมาผลิตไฟฟ้า ลดการพึ่งพาไฟได้เกือบ 120 เมกะวัตต์ และภายในโรงงานต่างๆ มีการผลักดันการใช้โซลาร์มานานแล้ว 7-8 ปี จนปัจจุบันผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองเกือบ 200 เมกะวัตต์”
หนุนนวัตกรรมคอนกรีตใหม่
ด้านการพัฒนานวัตกรรมสินค้า ยังมีการนำวัตถุดิบคุณภาพสูงเช่น CPAC Ultracrete (คอนกรีตสมรรถนะสูง) และ Mortar for 3D Printing เข้ามาใช้ในโครงการก่อสร้างเพื่อช่วยให้ประหยัดการใช้ทรัพยากรได้ โดยมีบทพิสูจน์ จากงานก่อสร้าง “สะพาน” ภายใน ปูนซีเมนต์ไทย สำนักงานใหญ่ บางซื่อ ซึ่งพัฒนามาจากคอนกรีตนวัตกรรมใหม่แรงอัดสูง บาง แต่แข็งแรง โดยไม่จำเป็นต้องมีคานรองรับ
“Low Carbon Concrete เป็นคอนกรีตที่พัฒนามา พบปล่อยคาร์บอนน้อยลง ราว 17 กิโลกรัม ทดแทนการปลูกต้นไม่ได้จำนวนมาก ขณะนี้เริ่มนำไปนำร่องใช้กับหลายโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นแลนมาร์กขนาดใหญ่ของรัฐ เอกชน และดีเวลลอปเปอร์”
นายชนะกล่าวว่า วันนี้ความยากในการผลักดันเรื่อง นวัตกรรมสีเขียว ในวงการก่อสร้าง ยังอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจของคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด บริษัทพยายามผลักดันโซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อม และการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ใน การก่อสร้าง อาทิ “CPAC Drone Solution” ตอบโจทย์การสำรวจหน้างาน ที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และออกแบบผังโครงการ เพื่อลดเวลาสำรวจ และลดความผิดพลาดในการก่อสร้าง ที่เรียก่า “CPAC BIM” ส่งเสริมการทำงานร่วมกันแบบ Collaborative Platform ให้ผู้เกี่ยวข้อง
เช่น เจ้าของงาน สถาปนิก ผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อม ให้เห็นภาพเดียวกัน และ “CPAC 3D Printing Solution” เทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นรูปแบบ 3 มิติ ที่สร้างสรรค์การออกแบบ ได้หลากหลาย รวดเร็ว ประหยัดแรงงาน ลดเวลา ควบคุมต้นทุนและช่วยลดเศษวัสดุในไซต์งานก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่รัฐที่จะต้องออกกฎระเบียบ และกฎหมายใหม่ๆที่เอื้อร่วมด้วย
มุ่งใช้พลังงานทดแทน 50% ในเหมือง
สำหรับธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง บริษัทยังวางแผนที่จะเพิ่มกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากโซลาร์ฟาร์มบนพื้นดินและลอยน้ำ 97 MW เพื่อทดแทนไฟฟ้า 5% ที่จ่ายจากสายส่ง และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 75,000 ตันต่อปี โดยวางแผนที่จะลดการใช้ถ่านหินลง 50% ที่โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี
รวมทั้ง การปรับใช้รถบรรทุกหินปูนขนาด 60 ตัน ชนิดไฟฟ้าในเหมืองปูนเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่โรงงานปูนซิเมนต์ไทย ทุ่งสง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลพิษ ปลอดฝุ่น PM 2.5 สอดคล้องกับแนวทางอุตสาหกรรมเหมืองแร่สีเขียว
“ขณะนี้ 70% ของพลังงานที่ใช้ ยังมาจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะน้ำมันและถ่านหิน แต่จะค่อยๆ ลดสัดส่วนนี้ลง เป้าหมายคือ 50% มาจากพลังงานหมุนเวียนทดแทน ซึ่งถือว่ามีความท้าทาย ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมา ม.ค.-ก.พ. ยังคงเดินหน้าได้ตามเป้า มีโครงการรับซื้อเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่โรงงานปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง ซึ่งช่วยส่งเสริม ให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้คนในชุมชนกว่า 300 คน มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”