นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาพิเศษ “Property Outlook 2022” ในงานสัมมนา Property Focus 2022 : Mega Trend อสังหาฯ รับ New Normalจัดโดย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่าขณะนี้ได้เริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนของภาคอสังหาฯมากขึ้น จากยอดขออนุญาตการจัดสรรที่ดินและการก่อสร้างที่เริ่มมีมากขึ้น
ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัย พบว่ามีความต้องการใกล้เคียงกับซัพพลาย ยังไม่เห็นภาวะโอเว่อร์ซัพพลายของภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงมองว่ายอดสินเชื่อใหม่จะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องไปถึงปี 2566 อย่างแน่นอน ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจตัวหนึ่งว่า เศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ เพราะเมื่อภาคอสังหาฯฟื้นตัวอื่นก็จะฟื้นตามมา
ช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างดี เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ลูกค้าระดับรายได้ปานกลาง
หันมาใช้สินเชื่อของ ธอส. มากขึ้น พร้อมย้ำว่า จากพันธกิจของ ธอส. ที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยของตนเอง จึงมีนโยบายให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด หรืออย่างน้อยภายในปี 2565 นี้
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทลงเหลือ 0.01% รวมทั้งขยายโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 ขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่ยอดทำนิติกรรมจริงยังไม่เต็มวงเงิน เนื่องจากอาจรอประเมินสถานการณ์ก่อน
ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่รัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการปรับลดภาษี 90% นั้นส่งผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่นหายไปประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทบต่องบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งถนนหนทาง น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า ในไตรมาสแรกปีนี้ ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึง 6.2 หมื่นล้านบาท สูงกว่าภาวะปกติ
หากคิดรวม 4 ไตรมาส จะปล่อยได้ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่าในปีนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ราวประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการและเป็นดัชนีชี้วัด การฟื้นตัวภาคอสังหาฯ
อีกทั้ง จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกระทรวงการคลังได้มีนโยบายให้ ธอส. ตรึงอัตราดกเบี้ยไปนถึงสิ้นปี 2565 นั้น จึงเป็นช่วงที่ดี สำหรับผู้มีความพร้อมที่จะซื้ออสังหาฯ แต่ราคาของอสังหาฯ
ที่มีการก่อสร้งใหม่ มีสิทธิ์ปรับขึ้น ซึ่งธอส. พร้อมจะเข้าไปช่วยในเรื่องของดอกเบี้ยและวงเงินสินเชื่อ แม้รายได้ของผู้กู้จะลดลงก็ตาม และพร้อมจะปล่อยสินเชื่อภายใต้การบริหารความเสี่ยงของเราเอง ซึ่งในส่วนของหนี้เสียของ ธอส. ขณะนี้ยังต่ำเพราะเป็นการกู้เพื่อที่อาศัยจริง
นายสิริพงศ์ ศรีสว่างวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พาร์ค ลักชัวรี จำกัด ผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ ในเครือ บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ แบรนด์ ไนท์บริดจ์ และ พาร์ค ออริจิ้น กล่าวว่า
อสังหาฯไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ หลังจากตลาดคอนโดฯลักชัวรีกลางเมือง และเมืองท่องเที่ยว หดตัวลง 50% ซึ่งบริษัทได้ศึกษาตลาด และพบโอกาสใหม่
พลิกการพัฒนาโครงการคอนโดฯไปสู่ บริการเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ตอบสนองนักลงทุนระยะยาว ที่แสวงหารายได้ค่าเช่า ซึ่งจะเป็นโอกาสใหม่ในภาคอสังหาฯไทย หลังปัจจัยต่างๆ คลี่คลาย
เพราะเมื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อแต่ละปีโต 1.5% ขณะราคาคอนโดฯที่ถือไว้ มูลค่าเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 8% ทำให้นักลงทุนจากตลาดสินทรัพย์ต่างๆ เริ่มกลับมาลงทุนในคอนโดฯมากขึ้น
นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอส เตท จำกัด (มหาชน) ระบุว่าปัจจัยโควิดยาวนานที่สุดเท่าที่เคยเจอมา 28 เดือนแล้วยังไม่จบ ผลกระทบโดมิโนอาจยังมีต่อ แต่เชื่อว่าในภาคของอสังหาฯดีมานด์จะพลิกอัพกลับมา
ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว ปลุกตลาดโรงแรม และตลาดที่อยู่อาศัย วันนี้ลูกค้าจะดูว่าใครตอบโจทย์ที่สุด ความกังวลเดียวของเรา คือ การขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ดี
โอกาสและทางออกอสังหาฯ จากนี้ไป จะต้องตามให้ทันเมกะเทรนด์ เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคยุคใหม่ การผลักดันตัวเองไปสู่มิติธุรกิจสีเขียว
ใส่ใจการออกแบบและการบริหารที่ถูกใจลูกค้า และมุ่งสนับสนุนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบ ที่ทำให้พื้นฐานของธุรกิจแข็งแกร่งและจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน