มีการประเมินกันว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี2565ที่กลับมาเก็บแบบครบถ้วน 100% จะเหมือนเป็นการซ้ำเติม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รอการพัฒนา โดยเฉพาะเจ้าของโรงแรม
ในขณะที่รายได้ยังแทบไม่เพียงพอต่อการบริหารเจ้าของกิจการโรงแรมที่พักทุกรูปแบบทุกขนาดคงต้องแบกรับภาระต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 – 2 ปี หรือไม่ก็ขายสินทรัพย์ในราคาถูกซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นผลดีสำหรับกลุ่มทุนใหญ่ที่รอซ้อนซื้อ
นายเทมส์ ไกรทัศน์ นักการเมืองและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดภูเก็ต ระบุ ไม่เห็นด้วย ต่อประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินเต็ม 100% หลังจากมองว่า เร็วเกินไป พร้อมกล่าวว่า
หลักการของกฎหมายเดิม ถูกกำหนดให้การจัดเก็บภาษีที่ดินเป็นไปอย่างเป็นธรรม มีทรัพย์สินมาก ก็เสียมาก หากปล่อยรกร้างไม่ทำประโยชน์ พลอยทำให้เสียมูลค่าเสียการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม ก็เสียแพงขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดี เป็นเหตุเป็นผล
แต่หลักการข้างบน ถูกตราขึ้นบนฐานที่ว่า โลกเศรษฐกิจการลงทุนเป็นปกติ แต่ขณะนี้เกิดโรคระบาด และยาวนาน ชะงักมาถึง 2 ปี แถมมาตรการรัฐที่ออกมา ผ่อนคลายล่าช้า สะท้อนว่ายังหวั่นเกรงการระบาดอยู่ ยังไม่ปกติ แต่ภาษีที่ดินฯ กลับขอให้ไปจ่ายแบบปกติ ซึ่งย้อนแย้ง
ทั้งนี้ ยังอยากให้รัฐบาลยื่นมือมาช่วยเอกชนต่อ ไม่ใช่ถอนความช่วยเหลือเช่นนี้ เพราะปีก่อนเก็บแค่ 10% แต่ปีนี้ขึ้นมาถึง 100% โดยเสนอให้ค่อยๆขึ้นภาษีที่ดินแบบขั้นบันได แบบสูงหน่อย หรือ ขั้นถี่ๆ ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยให้คนทำธุรกิจลืมตาอ้าปากได้บ้าง และมีกำลังคงการจ้างงานต่อ อันจะเป็นผลดีต่อห่วงโซ่ธุรกิจภาพรวม
เพราะจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ฯลฯ หรือแม้แต่ กทม. เอง โดยเฉพาะภาคธุรกิจโรงแรมและบริการ ,ภาคอสังหาฯ ยังลำบากกันจริงจัง ซึ่งบุคคลหรือผู้ประกอบการที่ถือครองที่ดิน (และอาคาร) คงอ่วมจากภาระดังกล่าว ขณะรายได้ยังไม่เข้า
" ภาษีที่ดินฯ มันเหมือนเป็นภาษีคนรวย ภาษีของนักธุรกิจ ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่จริงๆแล้ว มันผูกกันไปทั้งวัฏจักรเศรษฐกิจ หากผู้ประกอบการเขาแย่ ทำต่อไม่ไหว เพราะมีต้นทุนทางภาษีก้อนใหญ่มาซ้ำเติมปัญหาเดิมเข้าไปอีก การเลิกจ้าง หยุด-ปิดกิจการ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือขึ้นราคาสินค้าและบริการ พนง.สวัสดิการลด เงินเดือนไม่ขึ้น สุดท้าย แรงกระเพื่อมถึงกันหมด”
นายสืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร แพทโก้ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในภาคตะวันออกระบุว่า การจัดเก็บภาษีที่ดิน100% จะเป็นตัวเร่งให้เจ้าของที่ดินนำที่ดินปลูกพื้นทางการเกกษตรเพื่อลดผลกระทบการชำระภาษี ให้มากที่สุด
ผลที่ตามมา จะกระทบต่อภาคการผลิตของเกษตรกรตัวจริงแต่ทั้งนี้ใช่ว่าที่ดินทุกแปลงจะมีศักยภาพในการเพาะปลูกทำการเกษตร และเมื่อผลผลิตเสียหายในที่สุด ต้องขายที่ดินในราคาถูกให้กับนายทุนหรือต่างชาติที่มีกำลังซื้อกว่าเพราะไม่สามารถสู้กับภาระภาษีที่ดินที่ขึ้นทุกปีได้ โดยเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่า
ในทางกลับกันกรณีผู้ประกอบการหากจะนำที่ดินออกพัฒนาเพื่อลดภาระภาษีผลที่ตามมาคือซัพพลายที่เพิ่มขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมตามมา
สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการจัดเก็บภาษีบนพื้นฐานของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์ โดยอัตราภาษีจะเก็บเป็นอัตราขั้นบันไดของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแยกประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.ที่ดินเพื่อการเกษตร มีอัตราภาษีตั้งแต่ 0.01-0.1% โดยยกเว้นภาษีให้กับที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทและใน 3 ปีแรก (ปี 63-65) กรณีเป็นที่ดินเกษตรของบุคคลธรรมดาไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ต้องมีภาระภาษี 2.ส่วนที่ดินเพื่ออยู่อาศัย มีอัตราตั้งแต่ 0.02-0.1%
กรณีเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและเป็นบ้านหลังหลักของคนคนนั้น มีชื่อเป็นเจ้าของและมีชื่อในทะเบียนบ้านหลังนั้นที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี 3.ที่ดินประเภทอื่นๆ อาทิ ที่ดินเพื่อพาณิชย์ อุตสาหกรรม และที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควร
มีอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3-0.7% เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะถูกเก็บภาษีที่ดินเพิ่มขึ้น 0.3% ในทุกๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมต้องไม่เกิน 3% ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังรัฐบาลประกาศเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดิน ส่งผลให้เจ้าของที่ดินตื่นตัวปรับปรุงพัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ลดลง