นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสาเหตุที่รัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังจากในช่วงปี 63-64 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับลดอัตราภาษีลง 90% จากที่เคยเก็บในอัตรา 100% ในปี 62
ซึ่งอัตราภาษีที่จัดเก็บนั้น จะจัดเก็บตามประเภทของที่ดิน เช่น ที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยมีอัตราที่แตกต่างกันตั้งแต่ 0.1% ขึ้นไป ถึง 0.7% ซึ่งเมื่อรัฐบาลดำเนินมาตรการลดภาษี เหลืออัตราการจัดเก็บที่ 10% ทำให้รายได้ท้องถิ่นหายไปกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
“การปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงที่ผ่านมาถึง 90% ส่งผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่นหายไปประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทบต่องบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งถนนหนทาง น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม
ดังเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ภาคอสังหามีการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และชลบุรี ก็มีความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของท้องถิ่น ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าว” นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้มาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการลดหย่อยให้ 90% ในช่วงปี 63-64 นั้น ก็เพื่อลดภาระและเพื่อให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
แต่เนื่องจากในปี 2565 นั้น รัฐบาลไม่ได้ลดอัตราภาษีต่อให้ และต้องกลับมาเก็บในอัตราตามที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 62 กำหนด เนื่องจากขณะนี้ท้องถิ่นจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะช่วยอุดหนุนรายได้ในส่วนที่หายไปก็ตาม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 62 เป็นกฎหมายฉบับใหม่ ต่อจากการที่ใช้กฎหมายภาษีโรงเรือน ในกรณีที่การประเมินมีอัตราการชำระที่สูงกว่าภาษีโรงเรือนนั้น
จะสามารถนำส่วนต่างมาคำนวณในอัตรา 25% ไม่ใช่อัตราเต็ม ซึ่งถือเป็นข้อลดหย่อนที่มีอยู่ ดังนั้นจึงอยากให้เอกชนที่ธุรกิจยังฟื้นไม่เต็มที่ และที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ต่ออายุมาตรการ ไปศึกษารายละเอียดในการคำนวณการเสียภาษีซึ่งจะมีรายละเอียดในเรื่องของการลดหย่อนด้วย