อุตสาหกรรม S-CURVE บูมพื้นที่โรงงาน-คลังสินค้าปี64 โตกระฉูด

25 เม.ย. 2565 | 03:19 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2565 | 10:22 น.

ไนท์แฟรงค์ เปิด ภาพรวมตลาดโรงงานอุตสาหกรรม และคลังสินค้า ปี 2564 โตกระฉูด พื้นที่ EEC ฮอตสุด หลังต่างชาติ แห่ลงทุนในไทยหลายหมื่นล้าน จับตา อุตสาหกรรม S-CURVE ดันดีมานด์พื้นที่อนาคต

ฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาโครงการของ บริษัท ไนท์แฟรงค์ประเทศไทย จำกัด วิเคราะห์ภาพรวม 'ตลาดโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า' ในปี 2564 ที่ผ่านมา ว่าเม็ดเงินการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมในไทย ที่มีการเพิ่มขึ้นหลายภาคส่วน

 

โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี อาหาร และการแพทย์ ส่วนด้านกิจกรรมการขนส่งภายในประเทศ ยังคงมีความต้องการต่อเนื่องจากการค้าออนไลน์ และนโยบาย Work from home ทำให้ประชาชนมีการสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น รวมถึงกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของตลาด หลังจากมีการลงทุนจากต่างชาติเพื่อจัดตั้งโรงงาน และผลิตในไทย เป็นจำนวนมหาศาล 

4 กลุ่มอุตสาหกรรมยอดนิยม

ปัจจุบัน ณ ปี 2564 การเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย พบ 4 กลุ่มอุสาหกรรมยอดนิยม ซึ่งรวมเป็นมูลค่าเงินลงทุนกว่า 262,730 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77% ได้แก่ อันดับ 1 กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 31% (104,490 ล้านบาท) 2. กลุ่มการแพทย์ 18% (62,170 ล้านบาท) 3. กลุ่มปิโตรเคมี 14% (48,410 ล้านบาท) และ 4. กลุ่มการเกษตรและการแปรรูปอาหาร 14% (47,660 ล้านบาท)

 

ขณะ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่โดดเด่นที่สุด  หลังจากขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากอยู่อันดับที่ 7 ในปี 2562 ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 4 ในปี 2563 และขึ้นสู่อันดับที่ 2 ในปี 2564 ที่ผ่านมา ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 62,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย CAGR 172% จากปี 2562-2564  

 

อุตสาหกรรม S-CURVE บูมพื้นที่โรงงาน-คลังสินค้าปี64 โตกระฉูด

เขย่าดีมานด์โรงงาน-คลังสินค้า EEC 

สำหรับพื้นที่ที่กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์นิยมตั้งโรงงานผลิตหรือคลังสินค้า ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ภาครัฐสนับสนุนการลงทุนเพื่อรองรับเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการขยายตลาดส่งออกเครื่องมือแพทย์ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV โดย ณ ปลายปี 2564 พื้นที่เช่าบริเวณฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีจำนวน  2.3 ล้านตารางเมตร มีอุปทานใหม่คลังสินค้าเพิ่มจำนวน 1.35 แสนตารางเมตร

 

ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดชลบุรีถึง 60% รองลงมาคือ จังหวัดฉะเชิงเทรา 30% และระยอง 10% โดยปัจจัยหลัก มาจากทั้ง 3 จังหวัด ตั้งอยู่ในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่ได้รับการสนันสนุนจากภาครัฐ ทำให้ผู้พัฒนาโครงการสนใจพัฒนาโครงการบริเวณนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าจะมีการลงทุนตั้งโรงงานในเขตสนับสนุนการลงทุนและจะมีอุปสงค์รองรับ ส่วนพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปให้เช่าบริเวณนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1.5 ล้านตารางเมตร โดยมีอุปทานใหม่เพิ่มขึ้นสูงถึง 30,000 ตารางเมตร  พื้นที่โรงงานสำเร็จรูปโดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดชลบุรี 62% เช่นกัน ส่วนจังหวัดระยองอยู่ที่ 38% บริเวณนี้ยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ เช่น กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่กำลังเติบโตได้ดี โดยมีสินค้าหลักอย่าง ถุงมือยาง หลอดสวน กระบอกฉีดยา อุปกรณ์ทำแผล ที่ขยายตัวในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด 

 

ส่องแนวโน้มปี 2565

ทั้งนี้ ไนท์แฟรงค์ ประเมินทิศทาง 'ตลาดโรงงานอุตสาหกรรม และคลังสินค้า' ปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเปิดเมือง รวมถึงภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น

 

โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มเกษตรและการแปรรูปอาหาร ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ยังคลอบคลุมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม และที่เกี่ยวข้องกับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ, ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล, บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น