กรณีกระทรวงการคลังประกาศ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ในอัตราเต็ม 100% โดยให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้น ประเทศเปิดเต็มรูปแบบ ธุรกิจเดินหน้าประกอบกิจการต่อได้ ท้องถิ่นมีรายได้ลดการพึ่ง พางบประมาณจากรัฐบาล
ประเด็นดังกล่าวได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งแผ่นดินเมื่อผลกระทบที่เกิดขึ้นล้วนเกี่ยวข้องกับคนซื้อบ้านเมื่อผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนที่สูงจากภาษี ผลที่ตามมา ภาระนั้นจะถูกผลักไปที่ผู้ซื้อ แต่การผลักภาระมองว่าไม่ใช่ผลดี
ดังนั้น 3 สมาคมบ้านซึ่งประกอบด้วยสมาคมธุรกิอสังหาริมทรัพย์ไทยสมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ผนึกกำลังกันอีกครั้งเพื่อรวบรวมปัญหารวมรวมปัญหาเสนอรัฐบาลขอลดหย่อนชำระภาษี อีกครั้งภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ไม่ว่าจะแบบขั้นบันได้หรือลด90% เหมือนสองปีก่อน
ไม่เพียงผลกระทบจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และคนตัวเล็กที่บังเอิญมีที่ดินเป็นมรดกเท่านั้น แต่การเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังสะเทือนถึง บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่สะสมแลนด์แบงก์จำนวนมาก ประเภท “จะขายก็ไม่ได้พัฒนาก็ไม่ทัน”
อย่างเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ต้องพลิกที่ดินทำเลทอง โครงการมิกซ์ยูส รับรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล เกษตร-นวมินทร์ เป็นสวนมะม่วงบนที่ดิน 200-300 ไร่ ดินผืนใหญ่ทำเลชะอำจังหวัดเพชรบุรี ไม่ตํ่ากว่า 10,000 ไร่ พลิกแผนลงทุนไร่สับปะรด เพื่อลดภาระภาษีก้อนใหญ่ หากปล่อยทิ้งร้าง ภาระหลักร้อยล้านย่อมมาแน่
เช่นเดียวกับ ที่ดินแปลงงามแดนเนรมิตเก่าของคนในตระกูลเสรีเริงฤทธิ์ พลิกที่ดินกว่า 30 ไร่ ย่านพหลโยธิน แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ราคาตารางวาละ 1 ล้านบาท เป็นไร่เมล่อน
ส่วนที่ดินฝั่งตรงข้ามทำเลเดียวกันของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ที่ดินเนื้อที่ 49 ไร่ เดิมมีแผนพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส โรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า
ล่าสุดมีคนงานเข้าพื้นที่อีกครั้งเข้าใจว่ามีการปลูกผลผลิตจากการเกษตร เช่นเดียวกับแปลงหัวมุมพระราม 9 เนื้อที่ 73 ไร่ พลิกโฉมเป็นสวนผักสร้างอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกรค้าปลีกค้าส่ง
กลุ่มบริษัทแหลมทองสหการ ผู้ปลุกกระแสลดภาระภาษีที่ดิน โดยปลูกมะนาวลงในบ่อซีเมนต์ บนที่ดินเนื้อที่ 24 ไร่ มูลค่า 10,000 ล้านบาท แนวเส้นทาง MRT สีนํ้าเงิน กระทั่งมีคนเดินรอยตามปลูกกันทั่วบ้านทั่วเมือง
เช่นเดียวกับตระกูลหวั่งหลีเจ้าของที่ดิน แนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีรามคำแหงเนื้อที่ไม่ตํ่ากว่า 10 ไร่ ด้านหน้าติดถนนรามคำแหง ด้านหลังติดคลองแสนแสบ ทำเลศักยภาพโอบล้อมไปด้วยคอนโดมิเนียม ได้ลงทุนปลูกกล้วย
สะท้อนว่าไม่ต้องการขายหรือไม่รอจังหวะเศรษฐกิจดีมองหาผู้เช่ารายใหม่ หลังผู้เช่ารายเดิม คือวอลโว หมดสัญญาเช่า ต่อจากนาซ่า สเปซซี่โดม ขณะก่อนหน้านี้ ตระกูลหวั่งหลียังให้เช่า “ล้ง 1919” ย่านคลองสาน ที่ดินแปลงงามติดแม่นํ้าเจ้าพระยาให้กับกลุ่มของเจ้าสัวเจริญอีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบที่ดินทำเลเพลิตจิต-วิทยุ เนื้อที่3ไร่ ติดสถานี เพลินจิต รถไฟฟ้าสายสีเขียว จากการตรวจสอบไปยังสำนักงานเขตปทุมวันกรุงเทพ มหานครพบว่าโฉนดที่ดินระบุการถือครองในนามบริษัทสินสหกล จำกัด
โดยมีคนในตระกูลปราสาท-ทองโอสถ ถือหุ้นอยู่หลายราย เดิมมีแผนพัฒนาเป็นโครงการกรุงเทพฯสกายคอนโดมิเนียมหรู และยุติการพัฒนา ปัจจุบันพบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวกลายเป็นสวนกล้วย
มาที่ภูมิภาค สดๆ ร้อนๆ เจ๊เกียว นางสุจินดา เชิดชัย เจ้าแม่เดินรถโดยสารร่วมบขส.ชื่อดัง ของกิจการเดินรถและอู่เชิดชัยทัวร์มีที่ดินในมือกว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
ต้องชำระภาษีที่ดินไม่ตํ่ากว่า 30 ล้านบาท ท่าม กลางความระสํ่าระสายของธุรกิจเดินรถทัวร์และถึงขั้นประกาศขายกิจการ โดยทางออกเธอได้ปล่อยให้เช่าและตัดแบ่งขาย
บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์จำกัด (มหาชน) บริษัท นํ้าตาลขอนแก่น จำกัด ภายใต้กลุ่ม เค เอส แอล ยังนำที่ดินในต่างจังหวัดไม่ตํ่ากว่า 500-800 ไร่ เข้าร่วมโครงการกับ กลุ่มเอสซีจี
ปลูกต้นยูคาลิปตัสพืชเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทำกล่องกระดาษซึ่งเขามองว่าดีกว่าปล่อยทิ้งไว้รก ร้างไม่ทำประโยชน์และสามารถลดภาระภาษีได้อีกด้วย
การเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2565 เต็ม100% ของกระทรวงการคลัง สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะคนตัวเล็กเท่านั้นที่เดือดร้อน แม้แต่ทุนยักษ์ใหญ่ระดับเจ้าสัวยังสะเทือน!!!