ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี2565 ส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการ ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมากจากนโยบายกระทรวงการคลัง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เรียกชำระภาษีในอัตราเต็ม100%
แม้สถานการณ์โควิดอยู่ในช่วงขาลง แต่เงินในกระเป๋าผู้ประกอบการผู้ซื้อยังไม่กลับคืนมา เป็นปกติ ในปัจจุบันทันทีเนื่องจากโควิดเป็นสาเหตุให้การขายชะลอตัวลงปิดการขายไม่ทันภายใน3ปีนับจากได้รับใบอนุญาต ทำให้เกิดสต็อกจำนวนมากตามมาและเป็นส่วนที่ต้องแบกรับภาษีที่ดินในอัตราพาณิชย์
ขณะการจัดเก็บรายได้ของอปท.จากภาษีที่ดินยังคงดำเนินต่อไปตามกฎหมายกำหนดชำระภายในเดือนเมษายน แต่มีบางท้องถิ่นที่ขยายเวลาออกไปโดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดขยายออกไปถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม
จากก่อนหน้านี้ขยายเวลาชะระภาษีถึงวันที่ 30มิถุนายน 2565 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนชะลอการจ่ายเงินในกระเป๋า และการประเมินราคามูลค่าทรัพย์หลายสำนักงานเขตยังไม่เรียบร้อย
ขณะ นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้สมาคมจะประชุมสมาชิกและภาคีในภูมิภาค 15 จังหวัด เพื่อรวบรวมผลกระทบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตรา100%
เสนอให้กระทรวงการคลังและนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาขยายเวลาลด 90% หรือเก็บแบบขั้นบันไดอีกครั้ง เพราะยังมีบางธุรกิจที่ไม่ใช่เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ยังได้รับผลกระทบจากโควิด วิกฤตเศรษฐกิจและสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ
“หากต้องจ่ายภาษีที่ดิน100% จะมีภาระเพิ่ม อยากให้รัฐพิจารณาเก็บบางธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมที่ธุรกิจยังไปได้ดี และลดหย่อนให้บางธุรกิจ เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วเราจะยื่นพร้อมกับสมาคมอาคารชุดและสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร“นายมีศักดิ์กล่าว
สอดรับกับนายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า สมาคมจะร่วมยื่นข้อเสนอให้รัฐขยายเวลาลดภาษีที่ดิน90%
ออกไปอีก ทั้งนี้ในส่วนของออริจิ้นมีภาระภาษีที่ดินต้องจ่ายปีนี้ 4 ล้านบาท จากสต๊อกคอนโดมิเนียมยังเหลือขาย 2 พันยูนิตหรือ 8 พันล้านบาท ส่วนที่ดินเปล่าเมื่อซื้อแล้วจะนำมาพัฒนาขายใน 4-6 เดือน
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รัฐเก็บภาษีที่ดิน100% อาจกระทบต่อกำลังซื้อชะงักชั่วคราว เพราะอัตราภาษีที่เพิ่มทำให้ลูกค้าไม่กล้าซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนซื้อเพื่อเก็งกำไร 2-3 ปีนี้เริ่มลดความร้อนแรง
เพราะตลาดคอนโดมิเนียมยังไม่ฟื้นตัวดี จะมีตลาดเช่าที่กระทบบ้าง จากเดิมไม่เคยเสียภาษีต้องเสียภาษีอัตราที่อยู่อาศัย ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม หากเจ้าของไม่รับภาระเอง อาจจะผลักภาระให้กับผู้เช่าต่อ
ขณะที่ตลาดเช่ายังไม่ดี เพราะต่างชาติยังไม่กลับมา ด้านผู้ประกอบการคงไม่ลดการซื้อที่ดิน แต่เปลี่ยนซื้อแล้วพัฒนาทันที ไม่ซื้อเก็บไว้ 2-3 ปีเป็นแลนด์แบงก์รอพัฒนา ส่วนเจ้าของที่ดินเริ่มนำมาออกมาขายมากขึ้น ทำให้ราคาไม่สูงเหมือน 5-6 ปีก่อน
นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด(มหาชน)หรือMK กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมีภาระจ่ายภาษีที่ดิน 100% ประมาณ 2-5% จากที่ดินสนามกอล์ฟ 400 ไร่ และแลนด์แบงก์ 1,000 ไร่ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท โดยภาระที่เพิ่มไม่มีนัยสำคัญมาก ทั้งนี้มีแผนจะที่ดินยังไม่พัฒนาใน 2-3 ปีนี้ออกมาขาย ให้เกิดรายได้และลดภาระ เพราะทิศทางบริษัทจะลดความเสี่ยงการลงทุนธุรกิจอสังหาฯอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับนางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทริชี่เพลส2002จำกัด(มหาชน) ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก100% ในปัจจุบัน ให้คงเหลือ10%ออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยเครื่องยนต์ใหญ่ที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าต่อได้