มท.ชนรถไฟร้องศาลชี้แนวเขตยึดคืน‘เขากระโดง’ 5,083 ไร่

01 มิ.ย. 2565 | 20:00 น.

มท.ชนรถไฟร้องศาลชี้แนวเขตยึดคืน‘เขากระโดง’5,083 ไร่ บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ร้อน กรมที่ดิน ยื่นคำร้องศาลปกครอง ขอศาลสั่ง รฟท.พิสูจน์สิทธิ์ชี้แนวเขต ลุยเพิกถอนโฉนดคืน สหภาพรถไฟ ย้ำประชาชนยังอยู่ที่เดิมทำสัญญาเช่าต่อได้

 

ข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง เนื้อที่ 5,083 ไร่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าของที่ดินกับกรมที่ดิน ยังเป็นประเด็นร้อน ที่ทั้งสองฝ่ายยัง ไม่สามารถตกลงกันได้ เรื่องชี้แนวเขตแม้เรื่องได้อยู่ในกระบวนการของศาลปกครองกลางแล้วก็ตาม

              

ดังนั้นการลงพื้นที่เพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานของกรมที่ดิน เตรียมเสนอต่อศาล ของให้มีคำสั่งให้รฟท.ลงพื้นที่เขากระโดง ร่วมพิสูจน์สิทธิ์ชี้แนวเขต เพื่ออำนวยความสะดวกกรมที่ดิน เพราะไม่เช่นนั้นหากกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ผิดฝาผิดตัวอาจถูกฟ้องได้

มท.ชนรถไฟร้องศาลชี้แนวเขตยึดคืน‘เขากระโดง’ 5,083 ไร่

รฟท.ต้องชี้แนวเขตเขากระโดง

              

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกรมที่ดินเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากกรมที่ดินได้ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่บริเวณเขากระโดงจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อนำเท็จจริงชี้แจงต่อศาลปกครอง อย่างไรก็ตามยังยืนยันว่า รฟท.ต้องชี้แนวเขตบนที่ดินของตนเองเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนขึ้นอีก

              

สอดรับกับแหล่งข่าวจากกรมที่ดิน ได้รายงานกระทรวงมหาดไทยหลัง ลงพื้นที่เก็บข้อมูล การออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินเขากระโดง ซึ่งกรมที่ดินยอมรับว่า ได้ออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดิน รถไฟจริง แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าของพื้นที่ต้อง ร่วมชี้แนวเขต ว่าจุดใดบ้าง เป็นที่ดิน รถไฟ

 

เพราะปัจจุบันเอกสารสิทธิ์ที่ประชาชนถือครองถือว่ายังถูกต้องตามกฎหมาย หาก เพิกถอน โดยพละการ หรือเพิกถอนผิดที่ผิดตำแหน่ง อาจถูกฟ้องร้องได้  อย่างไรก็ตามการเพิกถอนโฉนด น.ส. 3 จะมัดรวมทั้ง 5,000 ไร่ นั่นหมายถึง ที่ดินนักการเมืองดังด้วย

ที่ผ่านมากรมที่ดิน ไม่สามารถ ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินปี 2497 เพิกถอนเอกสารสิทธิ์บนที่ดินทั้ง 5,083 ไร่คืนรฟท. ตามที่มีหนังสือร้องขอได้เพราะ

             

  1.ที่ดินแปลงดังกล่าว ระวังแผนที่ทางอากาศ เคยถ่ายไว้นานแล้วและมีความคลาดเคลื่อนไปจากปัจจุบัน ทำให้ไม่มีความชัดเจนในแนวเขตที่ดินระหว่างของเอกชนและรฟท.

              

2.รฟท. ไม่สามารถชี้ชัดกรรมสิทธิ์ของตนเองได้ว่าอยู่บริเวณใดบ้าง

              

3. ช่วงเดินสำรวจออกเอกสารสิทธิ์ รฟท.เคยรับรองแนวเขตว่าบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของรฟท.

              

4. กรมที่ดินมีความจำเป็นต้องรักษาสิทธิ์ในที่ดินเขากระโดงให้กับประชาชนที่ถือครอง ตามกฎหมาย หากเพิกถอนโดยพละการ ตามที่รฟท.มีคำสั่งให้เพิกถอน โดยไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ กรมที่ดินอาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 และถูกประชาชนฟ้องร้อง

              

รฟท.ต้องพิสูจน์สิทธิ์

              

ด้านนายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท)  ระบุว่า ที่ดินเขากระโดง ปัจจุบันเข้าอยู่ในกระบวนการ ศาลปกครองกลาง รับคำร้อง

 

กรณีรฟท.ฟ้องกรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ ทับที่ดินรถไฟ เนื้อที่  5,083 ไร่ ซึ่งทราบว่ากรมที่ดิน ต้องการให้รฟท. พิสูจน์สิทธิ์ว่าที่ดินล่าสุดของรฟท.อยู่บริเวณใดบ้าง โดยลงพื้นที่ชี้แนวเขตร่วมกันแต่ในทางปฏิบัติ ไม่ทราบแน่ชัดว่า เหตุใด รฟท.จึงไม่ดำเนินการ

              

ในมุมกลับกัน กรมที่ดินอ้างว่า ที่ดินที่นักการเมืองครอบครองทั้งสองแปลง อยู่นอกเหนือคำพิพากษาของศาล จึงเป็นที่มาของการชี้แนวเขตดังกล่าว

              

ขณะที่ดินเขากระโดงของรฟท.แบ่งเป็นสามกลุ่มได้แก่ กลุ่ม ที่ดิน 35 แปลง ซึ่งเป็น ส.ค.1 กรมที่ดินเพิกถอนคืนรถไฟแล้ว ตามคำพิพากษาศาล ปี 2561 ตั้งอยู่บริเวณปลายกิโลเมตรที่ 8  ทางรถไฟแยก บุรีรัมย์ เข้าเขากระโดง

              

ล่าสุด ปี 2563 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา  ที่ดินแปลงเล็ก เป็นน.ส.3 ซึ่งชาวบ้านครอบครอง ตั้งอยู่ช่วงกลางแผนที่ หรือติดริมถนนประโคนชัย บุรีรัมย์   ปัจจุบัน กรมที่ดินอยู่ระหว่างเพิกถอน

              

ส่วนอีกกลุ่มกว่า 5,000 ไร่ อยู่ในกระบวนการของศาลเตรียมนัดไต่สวน ซึ่งในจำนวนนี้มีที่ดินของนักการเมืองดัง อย่างไรก็ตาม รฟท.ไม่ฟ้องประชาชนผู้ครอบครอง แต่เลือกฟ้องรัฐด้วยกันคือกรมที่ดินเพราะที่ผ่านมาผู้ครอบครองทราบดีว่าเป็นที่ดินรถไฟ อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถเช่าที่ดินต่อไปได้ โดยเฉพาะสนามฟุตบอล

 

ย้อนรอยที่ดินเขากระโดง

              

ที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่  5,083 ไร่  กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งเมื่อสำนักข่าวอิศรา เปิดข้อมูลว่ารฟท. ส่งหลักฐาน ถึงกรมที่ดินให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 

 

ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 842-876/ 2560 และที่ 8027/2563 ว่า เป็นพื้นที่ของ รฟท. และกรณีโฉนดที่ดินเลขที่ 3466, 8564 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเดิมเป็นของนายชัย ชิดชอบ และนางกรุณา ชิดชอบ

              

มหากาพย์ 5,083 ไร่นี้ เริ่มมาตั้งแต่ ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง 8 พฤศจิกายน 2462 หรือเมื่อ 102 ปีที่แล้ว ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้กรมรถไฟหลวง

 

ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมา (ข้ามลำน้ำมูลราว ต.ท่าช้าง, อ.พิมาย) ไปยังบุรีรัมย์จนถึง อุบลราชธานี (อ.วารินชำราบ) ให้เสร็จภายใน 2 ปี โดยห้ามเจ้าของที่ดินที่ครอบครองที่ในเขตรถไฟก่อน 8 พฤศจิกายน 2462 ยก หรือซื้อขาย และเปลี่ยนกับผู้ใดผู้หนึ่ง ห้ามสร้างบ้าน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาต

              

ทางรฟท. มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ เขากระโดง และบ้านตะโก ทำทางรถไฟเพื่อเข้าแหล่งระเบิดและย่อยหิน ระยะทาง 8 กม. และ 4 กม.แรก มีเจ้าของที่ดิน 18 ราย อีก 4 กม. จนถึงแหล่งหินไม่มีเจ้าของ

             

กระทั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2513 มีการพบข้อพิพาทระหว่าง นายชัย ชิดชอบ และราษฎร บุกรุกที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง ผลการเจรจา นายชัยยอมรับว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของรฟท.

 

และทำหนังสือขออาศัย รฟท. ยินยอม ต่อมา วันที่ 26 ตุลาคม 2515 ได้มีการนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนดเลขที่ 3466 และขายให้ ละออง ชิดชอบ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2535 ก่อนจะมีการนำไปขายต่อให้บ.ศิลาชัย บุรีรัมย์

              

วันที่ 31 สิงหาคม 2518 ประพันธ์ สมานประธาน นำที่ดินเขากระโดงไปออกโฉนดเลขที่ 8564 และนำที่ดินขายเป็นทอดๆ จนกระทั่ง วันที่ 14 กรกฎาคม 2540 มีการโอนขายให้ กรุณา ชิดชอบ และทำนิติกรรมจำนองกับธนาคารกรุงไทย โดยสำนักงานที่ดินฯ มีหนังสือแจ้งว่า ที่ดินอยู่ในเขตทางรถไฟ

              

ในช่วงปี 2539 เกิดกรณีข้อพิพาทเขากระโดงเกิดขึ้น โดยวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเรื่องปัญหาพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับราษฎร ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน

 

ทางจังหวัดบุรีรัมย์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย วันที่ 17 มีนาคม 2541 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งความเห็นกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ (ตามหนังสือ นร.0601/211 ลง 17 มีนาคม 2541)วินิจฉัยว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ

              

ช่วงปี 2548 กรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภาได้ดำเนินการสอบสวน- ศึกษาข้อพิพาท เขากระโดง มีมติว่า ออกเอกสารโฉนดโดยมิชอบ ผู้ครอบครองบุกรุกที่ดิน รฟท. ต่อมา วันที่ 23 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการ ปปช.วินิจฉัยว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564

 

เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นที่หวงห้ามเป็นการออกที่มิชอบด้วยกฎหมาย และได้ส่งเรื่องเพิกถอนทั้ง 2 โฉนด โดยทาง ปธ.ป.ป.ช. มีหนังสือลงวันที่ 15 กันยายน 2554 ถึงผู้ว่าฯ รฟท. ให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุก

              

ช่วงปี 2557-2561 มีการฟ้องร้องกรณีการขอออกโฉนดระหว่างราษฎรกับ รฟท. และกรมที่ดิน ทางศาลฎีกาพิพากษายืนว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินกับบริวารออกจากที่ดิน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561

              

ต่อมา ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้พิพากษาในคดีที่การรถไฟฯฟ้องราษฎร 4 รายกระทำละเมิดต่อการรถไฟฯได้รับความเสียหาย ก่อนวันที่ 22 เดือนเมษายน 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีการรถไฟฯ ฟ้องราษฎร 4 ราย

 

กระทำละเมิดต่อการรถไฟฯได้รับความเสียหายไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้ โดยศาลพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การรถไฟเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน เป็นต้น