ราคาประเมินที่ดินปี2566 :วันที่1มกราคม 2566 กรมธนารักษ์โดย คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐเริ่มใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ตาม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ.2562 ทั้งนี้เฉลี่ยปรับขึ้น8%ทั่วประเทศ
โดยทำเลที่ดินใจกลางเมืองศูนย์กลางธุรกิจ(CBD) ราคาประเมินสูงที่สุดในประเทศ ยังคงอยู่ย่านถนนพระราม 1 ช่วง จากแยกสยาม ราชดำริ ไปจนถึงชิดลม ราคาขยับขึ้นจาก ตารางวาละ 9 แสนบาท เป็น 1 ล้านบาทต่อตารางวา
ถนนเพลินจิต ราคาประเมิน1ล้านบาทต่อตารางวา จากเดิม9แสนบาทต่อตารางวา ถนนวิทยุราคาประเมิน1ล้านบาทต่อตารางวาจากเดิม5-7.5แสนบาทต่อตารางวา
ถนนสีลม(ถนนพระรามที่4-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์) ราคาประเมิน1ล้านบาทต่อตารางวา ราคาเท่ากับราคาประเมินที่เดิมเก่า 1ล้านบาทต่อตารางวา
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับราคาซื้อขายตลาดแล้วยังห่างกันค่อนข้างมากแต่ทั้งนี้ผลที่ตามมาคือผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยและโอนกรรมสิทธิ์ รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเรียกเก็บในรอบต่อไปประจำปี2566
ขณะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี2565 ตามที่กระทรวงการคลังเรียกเก็บ100% ต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ส่งผลให้เจ้าของที่ดิน แลนด์ลอร์ดใหญ่ต่างนำที่ดินพลิกโฉมปลูกกล้วยกันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะทำเลที่มีที่ดินราคาแพงย่านใจกลางเมือง
ทั้งนี้ที่ผ่านมาราคาประเมินที่ดินใหม่ของกรมธนารักษ์เตรียมประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยเป็นการทบทวนจากการประกาศครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม2561
โดยดำเนินการทุก4ปี ตามรอบบัญญชีปกติแต่ขณะนั้นเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้ต่อเลื่อนมาถึงปี2565
สำหรับรายละเอียดบัญชีราคาประเมินที่ดินปี2566 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า วันที่ 1 มกราคม 2566 จะบังคับใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 หลังเลื่อนใช้ 1 ปี เพื่อลดภาระประชาชนผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปี 2565
เป็นปีแรกเก็บอัตรา 100% และค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ โดยภาพรวมทั้งประเทศราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นเฉลี่ย 8% สูงสุดยังเป็นพื้นที่ทำเลกลางเมืองแนวรถไฟฟ้า
“ราคาประเมินปี 2566 จะยังไม่มีปรับใหม่ แต่หากมีพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจทบทวนราคาใหม่ในระหว่างรอบปี เช่น สยามสแควร์ที่ราคาตลาดอยู่ที่ตารางวาละ 3.5 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่กรมประเมินอยู่ที่ตารางวาละ 1 ล้านบาท
แต่เป็นราคาเฉพาะพื้นที่ถ้าปรับต้องออกประกาศใหม่ และต้องหารือกรุงเทพมหานครด้วย เพราะเป็นผู้เก็บภาษีที่ดิน ส่วนภาษีลาภลอย หากจะมีการเดินหน้าคงต้องกลับมาดูราคาประเมินใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมเช่นกัน” นายประภาศ กล่าว
นายฐนัญพงษ์ สุขสมศักดิ์ ผู้อำนวยการกองประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ราคาประเมินใหม่ในภาพรวมทั่วประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8% โดยพื้นที่กรุงเทพฯปรับขึ้นประมาณ 3% และต่างจังหวัดประมาณ 8% ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงอยู่ทำเลแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
โดยราคาสูงสุดอยู่พื้นที่กรุงเทพฯ ราคา 1 ล้านบาท/ตารางวา (ตร.ว.) ได้แก่ ถนนสีลม เพลินจิต วิทยุ พระรามที่ 1 (บริเวณหน้าสยามสแควร์ถึงถนนเพลินจิต) รองลงมาถนนสุขุมวิท 750,000 บาท/ตร.ว. ถนนรัชดาภิเษก 450,000 บาท/ตร.ว. ถนนเพชรบุรี 300,000 บาท/ตร.ว.
ถนนพหลโยธิน 250,000 บาท/ตร.ว.ส่วนต่างจังหวัดสูงสุดอยู่ใน 3 จังหวัด พื้นที่อีอีซี ส่วนใหญ่อยู่ในรัศมีสถานีรถไฟความเร็วสูง เช่น จ.ชลบุรีปรับขึ้น 42.83% ราคาสูงสุดอยู่ถนนเลียบหาดพัทยา อ.บางละมุง 220,000 บาท/ตร.ว. ถนนเลียบหาดพัทยา 200,000-220,000 บาท/ตร.ว.
จ.ระยองปรับขึ้น 7.49% สูงสุดถนนสุขุมวิท อ.เมือง 100,000 บาท/ตร.ว. ถนน 3574 ระยอง-บ้านค่าย 2,500-60,000 บาท/ตร.ว. ส่วนจ.ฉะเชิงเทราปรับขึ้น 1.53% สูงสุดถนนมหาจักรพรรดิ์ อ.เมืองฉะเชิงเทรา 50,000 บาท/ตร.ว. ถนน 304 (สุวินทวงศ์) 3,500-50,000 บาท/ตร.ว.
ต้องจับตาว่าปี2566จะใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ได้หรือไม่เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง !!!