แจงเปิดต่างชาติซื้อบ้าน1ไร่ กระตุ้นลงทุนตามกฎหมายที่ดินปี42

13 ก.ค. 2565 | 10:12 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2565 | 07:40 น.

มท.แจงกรณีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ออกกฎกระทรวงให้สิทธิต่างชาติซื้อบ้าน 1 ไร่ ตามประมวลที่ดินปี 42 มีอายุบังคับใช้5ปี นอกนั้น ยึดเกณฑ์เดิม ต่างชาติถือห้องชุดไม่เกิน49% -ลดค่าโอนบ้านราคาไม่เกิน3ล้าน ส่วน ดึงต่างชาติศักยภาพสูง 4 กลุ่ม เข้าไทย พำนักระยะยาวมีผลก.ย นี้

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงกรณีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่ากระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างร่างกฎกระทรวงมหาดไทย เพิ่มเติมในเรื่องการให้สิทธิชาวต่างชาติถือครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2542)

 

 

โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ คือ ต้องเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนฯ ซึ่งต้องนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องคงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปีในธุรกิจหรือกิจการประเภทที่กำหนด

 

กรณีผิดเงื่อนไขทั้งเรื่องการลงทุน หรือไม่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย จะถูกยกเลิกสิทธิและต้องขายที่ดินออกไปโดยกฎกระทรวงฉบับนี้จะกำหนดให้มีอายุการใช้บังคับเพียงแค่ 5 ปี

 

 

 

ส่วนการให้สิทธิชาวต่างชาติถือครองห้องชุดยังคงให้ตาม พรบ.อาคารชุดในสัดส่วน 49% ของพื้นที่ห้องชุดที่มีการจำหน่ายในแต่ละอาคาร

 

 

เช่นเดียวกับประเด็นมาตรการลดค่าธรรมเนียมใช้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยเป็นการซื้อบ้านพร้อมที่ดินหรืออาคารชุดจากผู้ประกอบการที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท จะได้สิทธิลดหย่อนค่าธรรมเนียมจาก 2% เป็น 0.01%

 

 

ขณะประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางกลุ่มเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าประเทศไทย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ที่ 2 มิถุนายน 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2565

 

 

ทั้งนี้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

และ4. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สามารถพำนักและทำงานในประเทศไทยได้

 

จะช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน โดยการให้สิทธิในการถือครองที่ดินของคนต่างชาตินั้นถือเป็นหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้มีการนำเงินมาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ พิจารณาภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน