กทม. จ่าย 4หมื่นล้าน BTS จบทุกคดี ขีดเส้น 60 วันสางหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

20 ก.ค. 2565 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 13:49 น.

กรุงเทพธนาคม (กทม.)-บีทีเอส นั่งหัวโต๊ะตกลงร่วมกัน 2 ฝ่าย ขีดเส้น 60 วัน ศึกษาปมหนี้สายสีเขียว ย้ำหากกทม.ยอมจ่ายหนี้คืน 4 หมื่นล้าน ถอนฟ้องทุกคดี พร้อมเผชิญหน้าเปิดสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 30 ปีถึงปี 85

 

รถไฟฟ้าสายสีเขียว เริ่มคลายปมร้อนเมื่อ กรุงเทพมหานคร (กทม.)โดยบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด (ทีเค) กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีผู้รับสัมปทานและรับจ้างเดินรถได้นัดหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกโดยเฉพาะภาระหนี้สิน

 

ที่กทม.ต้องหาทางชำระคืนเอกชนไม่ต่ำกว่า4หมื่นล้านบาท ท่ามกลางคดีฟ้องร้องที่ยังเดินอยู่ในชั้นศาล อย่างไรก็ตามหากกทม.ทยอยชำระหนี้คืน ไม่ว่าจะในช่องทางใด ประเมินว่าคดีความที่ฟ้องร้องระหว่างกันน่าจะยุติลงได้

 

จ่ายหนี้ 4 หมื่นล้านปลดล็อคคดี

              

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากรณีหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กทม.ติดค้าง 40,000 ล้านบาท หากกทม.จ่ายหนี้คืน บริษัทจะถอนฟ้องคดีทั้งหมด เนื่องจาก

 

ปัจจุบันบริษัทอยู่ในภาวะตึงตัวจากการกู้สถาบันการเงินมาลงทุนเพื่อให้การบริการประชาชนยังคงเดินหน้าต่อได้ ซึ่งรายการหนี้สองส่วน จำแนกออก เป็น1.ค่าจ้างเดินรถ/บำรุงรักษา (O&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท และ2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท

              

ขณะความคืบหน้าการฟ้อง กทม.และกรุงเทพธนาคม ต่อศาลปกครองมีเพียงคดีเดียวคือ คดีทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถ วงเงิน 12,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเดินตามกระบวนการของศาลฯ

 

อย่างไรก็ตามจากการหารือเบื้องต้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 กรุงเทพธนาคม ต้องการให้มีการหารือมูลหนี้เพื่อขอชำระก่อน เพราะไม่ต้องการรอให้ศาลปกครองตัดสิน เนื่องจากปัจจุบันดอกเบี้ยยังเดินอยู่ต่อเนื่อง สำหรับภาระหนี้สะสมที่กทม. มีต่อบีทีเอส ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ถึงปัจจุบัน รวมกว่า 40,000 ล้านบาท

 

ส่วน กรณีที่บีทีเอสเตรียมฟ้องหนี้ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M)จำนวน 20,000 ล้านบาทนั้นบริษัทยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ เพราะต้องการ หารือร่วมกับกรุงเทพธนาคมเพื่อให้ได้ความชัดเจนก่อน

 

ขณะเรื่องข้อมูล ล่าสุดกรุงเทพธนาคมได้ส่งถึงกับกทม.แล้ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกทม.เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเปิดเผยรายละเอียดสัญญาอย่างไร หากดำเนินการตัดสินใจเปิดเผยสัญญาเมื่อใด ทางบีทีเอส ต้องการให้ทำหนังสือถึงบีทีเอสเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณา

              

“หากผู้ว่ากทม.ขอหารือเพื่อหาทางออกรถไฟฟ้าสายสีเขียว เราก็ยินดี แต่ในการหารือไม่ได้มีการพูดถึงในประเด็นนี้ ปัจจุบันมูลหนี้ 40,000 ล้านบาท ทางบีทีเอสได้มีการกู้เงิน ทำให้การเงินของบริษัทเริ่มตึงแล้ว อยากให้เร่งรัดในเรื่องนี้”

              

การหารือครั้งนี้ นายสุรพงษ์ ประเมินว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในฐานะคู่สัญญา ที่บีทีเอสได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพธนาคม มากกว่า 10 ปี และต้องอยู่ด้วยกันอีกนาน ทั้งนี้การเปิดเผยร่างสัญญานั้น มองว่าไม่ได้มีปัญหา

 

 

แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน เพราะปัจจุบันรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีหลายสาย ซึ่งมีการแข่งขันกัน เช่น ด้านการประมูลต่างๆ หากรถไฟฟ้าสายอื่นๆมีการเปิดเผยสัญญาได้เท่าไร บริษัทยินดีเปิดเผยสัญญาเท่าๆกัน

 

ศึกษาหนี้สายสีเขียวไม่เกิน 60 วัน

              

ทั้งนี้การเปิดเผยสัญญา เป็นข้อมูลในสัญญาจ้างเดินรถในปี 2555-2585 จะมีข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจในอนาคตหรือไม่ บริษัทมองว่าเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน ที่มีการลงนามแล้ว สามารถเปิดเผยสัญญาได้ แต่ในทางกลับกัน หากการปรับแก้สัญญาหลังลงนามแล้ว ในลักษณะเอกชนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ในทางปฎิบัติ ไม่น่าจะทำได้

              

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ กรุงเทพธนาคม จะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับมูลหนี้ของบีทีเอส เนื่องจากข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาราว 45-60 วัน

 

 

หลังจากนั้นกรุงเทพธนาคมยืนยันว่าจะเชิญบริษัทเข้าร่วมหารืออีกครั้ง ในระหว่างนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีคณะทำงานหารือร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านเทคโนโลยีปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป เบื้องต้นบีทีเอสได้ให้ข้อมูลถึงในช่วงที่ผ่านมาที่บริษัทพยายามปรับปรุงระบบเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ตั๋วร่วม บัตรแรบบิท การติดตั้งประตูกั้นชานชาลา

 

เลื่อนเก็บค่าโดยสาร

              

ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในช่วงที่ยังเปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชนนั้น เบื้องต้นได้ขอให้กรุงเทพธนาคมประสานงานร่วมกับทางกทม.เพื่อหาข้อสรุปให้ชัดเจน เพราะบีทีเอสจะต้องเตรียม ดำเนินการในการแก้ไขระบบซอฟต์แวร์และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งการเปลี่ยนป้ายค่าโดยสารที่ติดตั้งทั้ง 60 สถานี ส่วนจะจัดเก็บค่าโดยสารเท่าไรขึ้นอยู่กับทางกทม.เป็นผู้พิจารณา

              

“กระแสการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเหลือระยะเวลาอีกไม่กี่วัน คาดว่าทางบีทีเอสจะดำเนินการไม่ทัน หากจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารควรแจ้งบริษัทล่วงหน้า 30 วัน เพื่อให้มีระยะเวลาประชาสัมพันธ์กับประชาชนผู้ใช้บริการด้วย”

 

โยนกทม.เปิดสัญญาเดินรถ

              

ด้านนายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กล่าวว่า กรุงเทพธนาคม เปิดเผยว่า จากการเชิญ เอกชน หารือร่วมกันเกี่ยวกับภาระหนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น มีหลายส่วนโดยเฉพาะส่วนสัญญาเดินรถ 30ปี ที่จะสิ้นสุดปี 2585 มองว่า ที่ผ่านมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เชื่อว่าถึงเวลา ที่ทั้งสองฝ่ายต้องหารือร่วมกันว่าส่วนใดสามารถปรับแก้ได้หรือไม่เพื่อให้เกิดความสมดุล แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเอกชนเป็นผู้ตัดสินใจ

              

 

เบื้องต้นจากการหารือในครั้งนี้มีมติให้มีการเปิดเผยรายละเอียดสัญญา ในฐานะที่กรุงเทพธนาคม เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 99.98% ซึ่งไม่มีข้อกังวลใดๆ ในการเปิดเผยสัญญา ทั้งนี้เมื่อกทม.ได้รับข้อมูลแล้วจะดำเนินการอย่างไรเป็นอำนาจหน้าที่ของกทม.

              

 

ทั้งนี้ในรายละเอียดสัญญาการจ้างเดินรถทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-สมุทรปราการ และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไม่เคยมีการพูดถึงค่าโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

 

 

หากมีการนำเรื่องนี้มาศึกษาร่วมด้วยจะมีนัยถึงค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ด้านเทคโนโลยีที่ให้บริการรถไฟฟ้าบนสถานีมีข้อมูลใดบ้างที่จะกระทบต่อสัญญาก็ควรทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อสอดคล้องกับการทำงานในปัจจุบัน รวมทั้งระยะเวลาของสัญญาการเดินรถถึงปี 2585 (30 ปี) ขณะนี้ผ่านระยะเวลามาหลาย 10 ปีแล้ว หากมีการทบทวนข้อมูลที่ชัดเจนและพิสูจน์ได้ ทางบีทีเอส ก็พร้อมที่จะพุดคุย

              

 

ส่วนเรื่องการฟ้องร้องศาลปกครองของบีทีเอส เพื่อทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถโดยการหารือมีความเห็นตรงกันทั้ง2 ฝ่ายว่า ระหว่างที่กระบวนการยุติธรรมของศาลฯ ยังดำเนินการต่อไป ควรตั้งคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่าย ศึกษาข้อมูลทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาโครงการฯ และเจรจาถึงรายละเอียดเกี่ยวกับมูลหนี้ที่เกิดขึ้น หากได้ข้อสรุปเรื่องมูลหนี้ที่ตรงกันเพื่อชำระหนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรอจนคดีถึงที่สุด เพราะใช้ระยะเวลาเป็นปี อาจจะมีการถอนฟ้องคดีเพื่อให้เป็นข้อยุติได้

              

 

“การจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายบีทีเอสแจ้งว่าขอเวลาดำเนินการด้านระบบและป้ายค่าโดยสารบนสถานีรถไฟฟ้า 1 เดือน หากกทม.ตัดสินใจชัดเจนว่าจะกำหนดค่าโดยสารแล้วจะรีบนำประเด็นนี้เรียนให้ทราบด้วยเช่นกัน”

              

 

อย่างไรก็ตามอัตราค่าโดยสารสายสีเขียวทั้งระบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือ แต่จะเป็นเท่าใดนั้นต้องติดตาม

กทม. จ่าย 4หมื่นล้าน BTS จบทุกคดี ขีดเส้น 60 วันสางหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว