ที่ดินแพงสุดยังเป็นย่านการค้าเทศบาลนครตรัง ตร.ว.ละ 150,000 บาท ปรับขึ้นย่านการค้า 4 อำเภอ อีก 6 ไม่ขยับ ประธานหอฯร้องปลดล็อกผังเมืองเปิดทางลงทุนโรงแรม-โรงงาน
นางสาวจิราวรรณ สิทธิชัย ผู้อำนวยการส่วนประเมินราคาทรัพย์สิน สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาประเมินใหม่ตามประกาศราคาประเมินที่ดินรอบปี 2566-2569 (4 ปี) ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 นั้น ทำให้ราคาประเมินที่ดินจังหวัดตรัง มีการปรับขึ้นอีกครั้ง หลังจากไม่ได้ปรับตลอด 7 ปีที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจซบเซาเพราะผล กระทบจากการระบาดเชื้อโควิด-19
โดยที่ดินทำเลทองที่มีราคาสูงสุดในจังหวัดตรัง คือบริเวณถนนราชดำเนิน ย่านการค้าในเขตเทศบาลนครตรัง ยังอยู่ที่ตารางวา (ตร.ว.)ละ 150,000 บาท ไม่ปรับขึ้น เพราะไม่มีการซื้อขาย ส่วนที่ดินราคาตํ่าสุด ตร.ว.ละ 100 บาท เนื่องจากเป็นที่ตาบอด
ส่วนการปรับราคาประเมินที่ดินชายขอบเทศบาลนครตรัง อ.เมืองตรัง ที่เชื่อมกับที่ดินเขตเทศบาบอื่นๆ ครั้งนี้ได้ใช้หลัก เกณฑ์ประเมินเดียวกัน คือ เป็นที่โฉนด ประกาศเป็นรายแปลงใหญ่ ยึดแนวเขตธรรมชาติ จากถนนลึกไป 40 เมตรเหมือนทุกเทศบาล และกำหนดเป็นราคาเดียวกัน จากเดิมที่บางเทศบาลในแนวจากถนนลึก 20 เมตร บางแห่งใช้ลึก 40 เมตร ทำให้ราคาลักลั่นกัน
ผลจากการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ทำให้มีที่ดินประมาณ 100 แปลง จากราคาตร.ว.ละ 200 บาท ปรับขึ้นเป็น 2,500 บาท หรือกระโดดขึ้นถึง 1,150% ซึ่งไม่ต้องตกใจ เนื่องจากเป็นที่ดินชายขอบที่ไม่เคยมีการประเมินราคาขึ้นมาหลายสิบปี อีกทั้งชุมชนเมืองได้ขยายตัวออกมา ทำให้อยู่ในเขตที่มีความเจริญแล้ว และในการซื้อขาย จริงก็มีราคาสูงกว่าราคาประเมินไป มากแล้ว ในครั้งนี้จึงได้มีการประกาศใช้ราคาประเมินใหม่เพื่อให้สอด คล้องกับราคาซื้อขายจริงในตลาด
นางสาวจิราวรรณ กล่าวอีกว่า ส่วนราคาที่ดินแต่ละอำเภอที่เป็นย่านการค้าและชุมชนทั้ง 10 อำเภอ ของจังหวัดตรัง มี 4 อำเภอที่มีประกาศปรับขึ้นราคาประเมินใหม่ 4 ประกอบด้วย 1. อำเภอหาด สำราญ ถนนบ้านนา-หาดสำราญ (4235) ต.หาดสำราญ และต.บาหวี เดิมราคาตร.ว.ละ 500-600 บาท เป็นตร.ว.ละ 700 บาท 2. อำเภอห้วยยอด เทศบาลตำบลห้วยยอด ถนนเพชรเกษม (หมายเลข 4) จากถนนนครกิจบำรุง ถึงคลองห้วยยอด เดิมราคา 46,500 บาท เป็นตร.ว.ละ 50,000 บาท
3. อำเภอรัษฎา เทศบาลคลองปาง ถนนตรัง-ทุ่งสง(403) จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงถนนเทศบาล 8 เดิมราคาตร.ว.ละ 6,000 บาท เป็น ตร.ว.ละ 10,000 บาท และ 4. อำเภอสิเกา เทศบาลตำบลสิเกา ถนนทางหลวงแผ่นดิน 4320 ทางเข้า อ.สิเกา เดิมราคา ตร.ว.ละ 3,000 บาท เป็น ตร.ว.ละ 3,500 บาท
ส่วนอำเภอที่ไม่มีการปรับขึ้นราคาประเมินใหม่ในปี 2566 มี 6 อำเภอ ประกอบด้วย 1. อำเภอเมืองตรัง ถนนราชดำเนิน ตร.ว.ละ 150,000 บาท 2. อำเภอนาโยง ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) จากเทศบาล 6 ถึง 11 เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ ตร.ว. 32,000 บาท 3. อำเภอย่านตาขาว ถนนสายตรัง-ปะเหลียนสาย 404 จากถนนพิกุลทอง ถึง ถนนสุนทรนนท์ เทศบาลตำบลย่านตาขาว ตร.ว. 30,000 บาท
4. อำเภอปะเหลียน ถนนสายตรัง-ปะเหลียน สาย 404 จากเขต อ.ย่านตาขาว ถึงถนนท่าพญา-ปะเหลียน-ทุ่งยาว สาย 4125 เทศบาลตำบลท่าพญา ตร.ว.ละ 11,500 บาท 5. อำเภอกันตัง ถนนสถลสถานพิทักษ์ เทศบาลเมืองกันตัง ตร.ว.ละ 37,500 บาท และ 6. อำเภอวังวิเศษ ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4 ) จากคลองชี ถึงถนนสีห์วรางกูล เทศบาลตำบลวังวิเศษ ตร.ว.ละ 4,000 บาท
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาความเจริญเต็มที่แล้ว อีกทั้งไม่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ ส่วนที่ดินบนเกาะกระดาน เกาะมุก และเกาะสุกร ที่ดินบนเกาะส่วนมาก เป็น นส. 3 นส.3ก และที่ดินอื่นๆ กันเป็นส่วนมาก ไม่ค่อยมีที่ดินเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน จึงไม่มีการขยับปรับขึ้นราคาค่าประเมินในครั้งนี้
นางสาวจิราวรรณ สิทธิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ดินในอำเภอเมืองตรัง ที่มีการขยับปรับขึ้นราคาประเมินและมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ มีหลายทำเลทอง เช่น ถนนศรีตรัง 1 เป็นถนนวงแหวนรอบในของตัวเมืองตรัง ที่มีพื้นที่อยู่ในเขตเทศบาลนครตรัง และเขตเทศบาลตำบลโคกหล่อ อันเป็นจุดที่มีการขยายตัวออกไปจากความเจริญของตลาดทับเที่ยง เป็นย่านความเจริญแห่งใหม่ บนถนนวงแหวนรอบในของตัวเมืองตรังที่ขยายตัวออกไป
มีการปรับราคาประเมินที่ดิน จากสี่แยกสะพานวังยาว จนมาจดคลองนํ้าเจ็ด ตรงโรงแรมปาลิมา ปรับเป็นตร.ว.ละ 10,000 บาท และจากโรงแรมปาลิมา จนถึงแยกวงเวียนอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) จากตร.ว.ละ 3,500 บาท ปรับเป็น 7,000 บาท และถนนตรัง-ปะเหลียน จากสี่แยกต้นสมอ ถึงสี่แยกบ้านควน เดิมราคา 3,500 บาท ปรับเป็น 7,000 บาท และที่ดินถนนเลี่ยงเมือง หรือบายพาส 419 จากสี่แยกท่าปาบ ไปจนถึงสี่แยกควนปริง อ.เมืองตรัง เดิมราคา ตร.ว.ละ 2,000 บาท ปรับเป็น ตร.ว.ละ 2,500 บาท
นายธีระวัฒน์ หวังศิริเลิศ ประธานหอการค้าตรัง กล่าวว่าตรังมีความพร้อมเรื่องสาธารณูปโภค แต่เมื่อนักลงทุนจะมาลงทุน ติดปัญหาที่ จ.ตรัง เรามีพื้นที่ชายทะเลยาว 119 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทำให้ไม่มีพื้นที่ สำหรับเปิดบริการเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ยังมีปัญหาผังเมือง เพราะยังไม่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เรื่องนี้หน่วยงานเอกชนผลักดันไปหลายปีแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ หากดำเนินการได้จะเกิดการซื้อขายที่ดิน เปลี่ยนมือไปพัฒนาใน 2 กลุ่มหลัก คือ ภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม
ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,852 วันที่ 12-14 มกราคม พ.ศ.2566