พ.จ.อ.เมืองชล วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามแผนขยายสนามบินตรังเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น ต้องขยายความยาวทางวิ่งขนาดกว้าง 45 เมตร ยาว 2,100 เมตร เป็นยาว 2,990 เมตร ซึ่งต้องขยายสนามบินไปทางทิศตะวันตก ได้ผูกพันงบประมาณปี 2564-2567 วงเงิน 860 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อที่ดินเกือบ 648 ไร่ และที่ดินส่วนหัวทางวิ่งจะติดตั้งเครื่องนำร่อง ไฟสัญญาณต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของอากาศยาน และปรับพื้นที่เขานุ้ยออกลดความชันเหลือ 3 องศา ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบิน
ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟสายตรัง-กันตัง จะวิ่งในอุโมงค์ใต้ทางวิ่งเครื่องบินที่ขยายเพิ่ม ล่าสุดค่าเวนคืนได้บรรจุในแผนปีงบประมาณ 2565 ที่เสนอครม.แล้ว รวมทั้งได้มีการประชุมเจ้าของที่ดินเมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2565 จำนวน 293 รายเพื่อให้ทำการยืนยันสิทธิ์ในการรับค่าเวนคืน จากนั้นบริษัทเอกชนที่ทำรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพย์สิน อาสินแต่ละแปลง รวมทั้งการตั้งราคาค่าจ่ายเงินเวนคืนต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ
ส่วนที่ดินอีกแปลงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดถนนสาย 404 ตรัง-ปะเหลียน ขนาดเนื้อที่ 19 ไร่ จำนวน 30 ครัวเรือน ที่ดินตรงนี้ไม่อยู่ในแผน เพราะไม่ใช่ที่ดินขยายทางวิ่งหรือรันเวย์เครื่องบิน แต่ชาวบ้านอ้างว่าเดือดร้อนรำคาญเสียงเครื่องบินขึ้นลง จึงร้องขอให้มีการเวนคืนที่ดินบริเวณนี้ไปทั้งหมดด้วย ทางกรมฯ จึงดำเนินการให้ตามที่ชาวบ้านร้องขอ
ผอ.ท่าอากาศยานตรังกล่าวอีกว่า ส่วนอีก 3 แผนงานในโครงการขยายสนามบินตรัง มีความคืบหน้าดังนี้ 1. เสริมทางวิ่ง สร้างทางขับและลานจอดอากาศยาน สัญญา 700 วันสิ้นสุด 30 มี.ค.2564 วงเงิน 678 ล้านบาท มีบริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ก่อสร้างเสร็จแล้ว2.เทอมินัลหลังใหม่ รองรับผู้โดยสาร 3.4 ล้านคนต่อปี วงเงิน 1,070 ล้านบาท สัญญา 900 วัน สิ้นสุด 13 มี.ค.2565 บริษัท พอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ล่าสุดคืบหน้า 64% จากผลกระทบเชื้อโควิด-19 อนุญาตให้ขยายเวลาถึงต.ค.2566 และ
3.งานขยายความยาวทางวิ่ง จากเดิมยาว 2,100.เมตร เป็น 2,990 เมตรกว้าง 45 เมตร งบ 1,800 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า NTH (บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) บจก.ไทย สเลอรี่ ชิล (TSS) และ ห.จ.ก. หาดใหญ่เรืองชัยการโยธา (RC)) เป็นผู้รับจ้าง สัญญาจ้าง 24 ก.ย. 2564 - 5 ม.ค.2568 ล่าสุดคืบหน้า 8% ตํ่ากว่าแผน (10%) จากภาวะฝนปี 2565 ตกเกือบทั้งปี ไม่สามารถทำงานถมดินปรับพื้นที่ได้ การขยายทางวิ่งในส่วนของที่ดินในรั้วสนามบิน ทำไปได้ประมาณ 400 เมตร และการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟลอดใต้รันเวย์โดยการทำเข็มเจาะ
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการนำเที่ยวต่างประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย มาเข้าพบเพื่อขอข้อมูลท่าอากาศยานตรัง เพื่อวางแผนทำการบินเครื่องบินเช่าเหมาลำ ซึ่งได้ชี้แจงไปว่า ภายในเดือนต.ค.2566 อาคารเทอมินัลหลังใหม่จะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการสำหรับเที่ยวบินในและต่างประเทศได้แน่นอน ทั้งเครื่องบินตามตารางการบิน และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ
แต่ทางวิ่งเครื่องบินอยู่ระหว่างขยายความยาวยังไม่แล้วเสร็จ จากปัจจุบัน 2,100 เมตร กว้าง 45 เมตร เครื่อง รองรับเครื่องบินขนาดกลาง หรือผู้โดยสารไม่เกิน 189 ที่นั่ง เช่น เครื่องโบอิ้ง 737-800 และแอร์บัส 320-200 เวลานี้ยังไม่มีคลังนํ้ามัน แต่มีบริการนำรถนํ้ามันมาเติมให้
นายธีรวัฒน์ หวังศิริเลิศ ประธานหอการค้าตรัง กล่าวว่า ความล่าช้าการก่อสร้างเทอมินัลใหม่ จากเดิมสิ้นสุดปี 2565 แต่จากเชื้อโควิด-19 ยืดเยื้อ 2 ปีเต็ม ต้องขยายสัญญาไปเป็นต.ค.2566 ล่าสุดคืบหน้า 60% อยากให้กรมท่าอากาศยานกำกับดูแลคู่สัญญา ให้งานแล้วเสร็จตามแผนด้วย เพราะคนตรังก็รอใช้ จังหวัดตรังเองรอความสมบูรณ์ของเศรษฐกิจ ที่จะเริ่มต้นใหม่ในปีนี้เป็นต้นไปด้วยเช่นกัน
ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน
หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,831 วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2565