กรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงมือก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกายและถนนเชื่อมต่อเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนคร วงเงินประมาณ 12,717.4 ล้านบาท โดยปลายปี 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน 5 เขตในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอโดยมีระยะทางยาวกว่า 6 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น5ช่วง
ช่วงที่1 เริ่มต้นจากถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณบางอ้อ ข้างโรงพยาบาลยันฮี จนถึงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี
ช่วงที่ 2 ช่วงที่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแม่น้ำ ขึ้นฝั่งหลังวัดแก้วฟ้าจุฬามณี (จุดสิ้นสุดถนนทหาร)
ช่วงที่ 3 จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งพระนคร (วัดแก้วฟ้าจุฬามณี) ไปจนถึงแยกสะพานแดง ถนนเตชะวณิช (สุดถนนทหาร เริ่มต้นถนนประดิพัทธ์)
ช่วงที่ 4 จากแยกสะพานแดง(ถนนเตชะวณิช) ตรงไปถึงแยกประดิพัทธ์ ข้ามทางรถไฟเลี้ยวซ้ายขนานไปกับทางรถไฟ จากนั้นเลี้ยวขวาไปจนถึงทางแยกที่ถนนพระราม 6 ตัดกับถนนกำแพงเพชร ใกล้ทางเข้าสถานีกลางบางซื่อ (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์)
ช่วงที่ 5 จากปลายช่วงที่ 4 ตรงไปตามถนนกำแพงเพชร เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพหลโยธิน สิ้นสุดที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต โดยมีทางลงแยกไปลงที่ถนนกำแพงเพชร 2 มุ่งหน้าขนส่งหมอชิต 2
จากการคัดค้านของประชาชนกลุ่มรักษ์บ้านกำเเพงเพชร 5 ส่งผลให้กทม.ยกเลิกก่อสร้างช่วงที่ 4 และช่วงที่5 ระยะทางยาว 1,400เมตรและ1,600เมตร ตามลำดับหรือประมาณ3กิโลเมตร ออกไป เนื่องจากเห็นว่า เป็นชุมชนขนาดใหญ่ตลอดแนวมีบ้านเรือนประชาชนเกิดขึ้นหนาแน่น ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นอำนวยความสะดวก
จึงลดความจำเป็นเร่งด่วนและลดผลกระทบจากการเวนคืนทั้งสองช่วงลงกว่า100แปลง เหลือเพียง 3ช่วงที่มองว่ามีความเหมาะสม และเตรียมออกพระราชกฤษฎีกาจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อไป
ขณะสภากรุงเทพมหานครได้อนุมัติงบประมาณปี 2566 ให้เริ่มก่อสร้างในช่วงที่ 2 (สะพานข้ามเจ้าพระยา)“ฐานเศรษฐกิจ”ลงพื้นที่สำรวจ การก่อสร้าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ วัดแก้วฟ้าจุฬามณี และ สภาเกียกกาย จุดสิ้นสุดถนนทหาร พบว่าบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (ITD) ผู้ชนะประมูล
ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกายช่วงที่2 รวมทางขึ้นลงขนาด6ช่องจราจรมีระยะทางยาว365.77เมตร เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่24มิถุนายนปี2565ถึง วันที่ 9ธันวาคม2567
ระยะเวลาก่อสร้าง 900วัน วงเงิน 925,079,874.41บาท (925 ล้านบาทเศษ) ปัจจุบันมีการก่อสร้างท่าเรือเกียกกายใหม่ ทดแทนโครงสร้างเดิมที่ทรุดโทรม จากนั้นจะก่อสร้าง ตัวสะพาน คล่อมท่าเรือฯ โดยลากจากถนนทหารข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปลงฝั่งธนบุรี
บริเวณลานจอดรถของผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลยันฮี บริเวณด้านหลัง อาคารศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ หรือร้านอาหาร หัวปลาหม้อไฟช่องนนทรีเดิม บริเวณนี้ จะถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างเป็นจุดขึ้น-ลง สะพานเกียกกายรับปริมาณรถข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากถนนทหาร บริเวณอาคารรัฐสภาฝั่งพระนคร
ข้ามฝั่งของถนนจรัญสนิทวงศ์ ลอดผ่านเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไปลงบริเวณจรัญสนิทวงศ์ซอย 93/1 เข้าพื้นที่ชุมชนสงวนทรัพย์ บนที่ดินเช่าเก่าแก่ อายุกว่า 50 ปี ชุมชนนี้ถูกเวนคืนยกเวิ้งไม่ต่ำกว่า 80-100 หลังคาเรือนจาก 167 หลังคาเรือน นอกจากนี้แนวเส้นทางจะ ผ่านตลาดบางอ้อ
วิ่งตัดเข้ากับกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นอีกจุดที่จะสร้างทางต่างระดับขึ้นลงจากถนนจรัญสนิทวงศ์ ตรงไป ยังทางพิเศษ(ทางด่วน)บางซื่อ-สะพานพระราม 6-ถนนบรมราชชนนี โดยจะมีทางต่างระดับขึ้นลงเชื่อมกับถนนโลคัลโรดทางรถไฟสายใต้ และทางด่วน แล้วค่อยๆ ลดระดับลงพื้นดิน
จากนั้นจะตวัดไปด้านซ้าย คู่ขนานไปกับถนนนครอินทร์ ไปเชื่อมกับถนนราชพฤกษ์และถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้หากก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี2567 จะช่วยระบายรถได้เป็นอย่างดีนับ1แสนคันต่อวัน
อีกทั้งยังสร้างความเจริญในพื้นที่ ช่วงที่มีการเวนคืนเขตทางใหม่ย่านฝั่งธนบุรีจะทำให้ราคาขยับสูงมีโครงการบ้านจัดสรรเข้าปักหมุดทั้งสองข้างทางอย่างแน่นอนจากการประเมินของนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด สะท้อนว่า ปัจจุบันราคาที่ดินติดถนนจรัญสนิทวงศ์
ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อตารางวา ในซอยราคา 1.5 แสนบาทต่อตารางวา หากมีการตัดถนนใหม่ อย่างสะพานเกียกกายและถนนเชื่อมต่อ กรณีก่อสร้างเป็นถนนระดับดินราคาจะขยับ 2-3 เท่าตัว
อย่างไรก็ตามที่ดินย่านถนนจรัญฯก่อนจะมีรถไฟฟ้าราคาที่ดิน ติดถนนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อตารางวา สภาพส่วนใหญ่เป็นชุมชนเก่าแก่ ต่อมาเมื่อมีรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ผู้ประกอบการมักซื้ออาคารพาณิชย์เก่ารวมแปลงขึ้นคอนโดมิเนียม
ต้องจับตาฝั่งธนบุรี วันนี้อึกกระทึกไปด้วยคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ย่านอยู่อาศัย ที่เติบโตสูงจากอานิสงก์รถไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานรัฐ!!