5เขตกทม.เช็คด่วน ครม.เคาะเวนคืนที่ดิน สร้าง “สะพานเกียกกาย” ข้ามเจ้าพระยา 

28 ก.ย. 2564 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2564 | 15:57 น.

ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน 5 เขตในกทม. เร่งสำรวจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน เดินหน้าสร้าง “สะพานเกียกกาย” ข้ามเจ้าพระยา 

วันที่ 28 ก.ย. 64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ 

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าวในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย เชื่อมต่อกับการสร้างและขยายถนน เพื่อแก้ปัญหาการจราจร

5เขตกทม.เช็คด่วน ครม.เคาะเวนคืนที่ดิน สร้าง “สะพานเกียกกาย” ข้ามเจ้าพระยา 

โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำการสำรวจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนให้ถูกต้องและชัดเจน ซึ่งที่ดินที่จะเวนคืนมีส่วนแคบที่สุด 50 เมตร และส่วนที่กว้างที่สุด 1,250 เมตร

ลักษณะของโครงการเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายตามแนวถนนทหาร ซึ่งกรุงเทพมหานครพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

พร้อมทั้งได้ปรับรูปแบบสะพานเกียกกายไม่ให้กระทบพื้นที่รัฐสภาแห่งใหม่ สะพานมีความยาว 320 เมตร 6 ช่องจราจร เชื่อมต่อฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร

5เขตกทม.เช็คด่วน ครม.เคาะเวนคืนที่ดิน สร้าง “สะพานเกียกกาย” ข้ามเจ้าพระยา 

ในการดำเนินงานที่ผ่านมา กทม. ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้วรวม 4 ครั้ง พร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในกรณีพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในระยะทาง 2 กิโลเมตรเรียบร้อยแล้ว

5เขตกทม.เช็คด่วน ครม.เคาะเวนคืนที่ดิน สร้าง “สะพานเกียกกาย” ข้ามเจ้าพระยา 

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อสะพานเกียกกายและถนนเชื่อมต่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับปริมาณการสัญจรที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่โดยรอบรัฐสถาแห่งใหม่ได้ประมาณ 1แสนคันต่อวัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนบน