กรมที่ดินเตือน ระวัง ! มิจฉาชีพใช้"โฉนดที่ดิน"ปลอมหลอกกู้เงิน

13 ก.พ. 2566 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2566 | 09:28 น.

อธิบดีกรมที่ดิน ออกโรงเตือนระวังมิจฉาชีพใช้"โฉนดที่ดิน"ปลอมหลอกกู้เงินรับจำนำโฉนดที่ดิน ชี้ ทำไม่ได้ ไร้ผลทางกฎหมาย ต้องนำไปจดจำนองเท่านั้น หากใช้ค้ำประกันเงินกู้ยืม

 

 

 

 

 

 "โฉนดที่ดิน" หนึ่งในเอกสารสิทธิ์รับรองการทำประโยชน์ในที่ดินรัฐที่สามารถซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายสร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้กับผู้ถือครองและใช้เป็นหลักประกันจำนอง เพื่อเข้าถึงกระแสเงินสด การต่อยอดในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ แต่ในทางกลับกัน

สำนักงานที่ดินจังหวัด/สาขาหลายพื้นที่  โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบ มีการปล่อยเงินกู้ให้กับประชาชน โดย นำโฉนดที่ดินของประชาชนที่มาขอกู้เงิน ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ขณะเดียวกันบางรายมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่ารับจำนำโฉนดที่ดิน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างตามมา 

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ชี้แจงว่าการนำที่ดินไปเป็นหลักประกันเงินกู้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น จะต้องนำทรัพย์ไปตราไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ คือ การไปจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน โดยการจำนองจะมีค่าธรรมเนียม  1 %  ของวงเงินกู้

 

อธิบดีกรมที่ดิน

 

เจ้าหนี้จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีจากการที่ปล่อยเงินกู้นั้น ลักษณะนี้อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้รับจำนำโฉนดที่ดินอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือผู้รับจำนำบางรายอาจจะไม่ต้องการความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจที่จะต้องไปจดจำนองต่อหน้าเจ้าที่

ส่วนนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กัน ซึ่งเมื่อมีการจดจำนองกับเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินก็จะดำเนินการตรวจสอบโฉนดที่ดิน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถนำโฉนดที่ดินปลอมมาทำธุรกรรมได้ซึ่งก็จะพบได้ไม่ยากว่าเป็นโฉนดปลอม

อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวต่อไปว่า กรณีดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมที่ดิน ได้สั่งการให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด/สาขา นำโฉนดที่ดินนั้นมาตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพบว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวใกล้เคียงของจริงมาก ถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจะดูไม่ออก เพราะฉะนั้นอยากจะขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน บริษัทห้างร้านต่าง ๆ

ที่ประกอบการปล่อยเงินกู้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือบุคคลธรรมดาให้เพิ่มความระมัดระวัง ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่จะรับจำนำก็จะมีพระราชบัญญัติโรงรับจำนำของกรมการปกครอง โดยมีนายอำเภอท้องที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องการจดทะเบียนผู้ประกอบการรับจำนำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ถือโอกาสนี้ ประชาสัมพันธ์ไปถึงพี่น้องประชาชนทราบ

อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำแบบพิมพ์โฉนดที่ดินสำหรับออกเป็นเอกสารสิทธิให้แก่เจ้าของที่ดิน กรมที่ดินจะจัดทำแบบพิมพ์โฉนดที่ดินในที่ดินหนึ่งแปลงจะมี 2 ฉบับ เราเรียกว่า 1 คู่ฉบับ โดยที่ฉบับหนึ่งเป็นครุฑที่ไม่มีสี แต่ก็จะเขียนด้านข้างว่า ฉบับสำนักงานที่ดิน

อีกฉบับหนึ่งจะเป็นครุฑที่มีสี ไว้ให้กับเจ้าของที่ดินถือไว้ 2 ฉบับนี้จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินทุกอย่างตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแปลงที่ดิน ชื่อผู้ถือ เลขที่โฉนด ทุกอย่างจะมีข้อความเหมือนกัน ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวง เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพมาในหลายรูปแบบ การที่ท่านจะทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินไม่ว่าจะเป็นการรับจำนอง

จำนำไว้เป็นประกันโดยตรง และสงสัยว่าโฉนดที่ดินที่รับไว้ใช่ของจริงหรือไม่ ท่านสามารถนำไปที่สำนักงานที่ดิน เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถตรวจสอบเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ได้ว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ หรือสามารถโทรสอบถามขอคำแนะนำได้โดยตรงกับกองการพิมพ์ กรมที่ดิน โทรศัพท์ 0 2448 5711