'อนันดา' เชื่อ คดีแอชตันอโศก จบดี ดันยูนิตพร้อมขาย 7.4 หมื่นล้านแข่งอสังหาฯ

13 ก.พ. 2566 | 11:22 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 03:48 น.

"อนันดา" สาง คดีแอชตันอโศก เชื่อจบดี พร้อมประกาศแผนปี 66 เปิดเฟล็กชิฟใหม่ 2 โครงการ สะพานควาย , คอนโดฯซูเปอร์ลักชัวรี สุขุมวิท ราคา 150-300 ล้าน บวกของใหม่7.4 หมื่นล้าน พลิกทำกำไร

13 ก.พ.2566 - ปี2566เป็นปีที่น่าจับตามองของวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะบิ๊กแบรนด์ในฝั่งคอนโดมิเนียม ว่าจะปรับกลยุทธ์เดินเกมอย่างไร จากการเจ็บตัวมาอย่างหนัก ในช่วงโควิด - 19ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะผู้นำโครงการคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า อย่าง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผ่านบททดสอบมามากมาย กับการหายไป ของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ รวมไปถึง ปัญหาข้อพิพาทจากโครงการดัง 'คดีแอชตันอโศก' ที่สั่นคลอนความเชื่อมันอีกด้วย

ล่าสุด  นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดา ระบุถึง ความคืบหน้าคดีแอชตัน อโศก จากกรณี ทั้งชาวบ้านในพื้นที่ และ สยามสมาคมฯ ฟ้องร้อง เจ้าหน้าที่รัฐ ฐานปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคาร โดยไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  

 ขณะ ทางบริษัท อนันดา เอ็มเอ็ฟ เอเชีย อโศก จำกัด (บริษัทลูก บมจ.อนันดา) ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะ “ผู้ร้องสอด” ว่า ขณะนี้คดีดังกล่าว ยังไม่สิ้นสุด และอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
 

อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่า คดีความจะจบในเร็ววัน ในทิศทางบวกต่อบริษัท และลูกบ้านโครงการแอชตันอโศก พร้อมกล่าวว่า แม้โครงการดังกล่าวจะมีข้อพิพาททางกฎหมาย แต่ยังได้รับความสนใจจากผู้ซื้อใหม่ โดยมียูนิตพร้อมขายราว 800 กว่าล้านบาท

ที่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ รอเพียงศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดเท่านั้น เนื่องจากเป็นทำเลกลางเมือง ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ซื้อยังเชื่อมั่นในแบรนด์อนันดา 

\'อนันดา\' เชื่อ คดีแอชตันอโศก จบดี ดันยูนิตพร้อมขาย 7.4 หมื่นล้านแข่งอสังหาฯ

นายประเสริฐยังกล่าวว่า ปีนี้ อสังหาฯ มีความท้าทายในการดำเนินธุรกิจอยู่เช่นกัน จากปัจจัยหลัก 1.ราคาที่ดินไม่ลดลง แต่ในช่วงวิกฤติกลับยิ่งแพงขึ้น 2.กฎหมาย-ระเบียบต่างๆ ทั้งการพัฒนาโครงการและการซื้อ-ขาย เข้มขึ้น กลายเป็นโจทย์ในฝั่งผู้พัฒนา ว่าจะวางกลยุทธ์อย่างไรในการแข่งขัน 

อนันดา ลงทุนใหม่ 21,200 ล้าน เปิด 2 โครงการแฟล็กชิฟ ทำเลทอง

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยืนยันในความแข็งแกร่งด้านการเงินรวมถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ทั้งการมีโครงการ Inventory บนทำเลที่ดีที่สุดรองรับการเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าจะมีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน  

โดยในส่วนของการสนับสนุนจากพันธมิตรยังคงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง จากพันธมิตรชั้นนำระดับอินเตอร์เนชั่นแนล และพันธมิตรชั้นนำของไทย เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

สำหรับแผนการเปิดโครงการใหม่ 2 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการในระดับแฟลกชิพ มูลค่ากว่า 14,600 ล้านบาท โดยประกอบด้วย

  1. New Branded Residence บนทำเลใจกลางสุขุมวิท ซึ่งเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก ( World Class Partner ) ที่ถือได้ว่า จะเป็นที่สุดของความร่วมมือในการพัฒนาโครงการในรูปแบบ Branded Residence ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งมูลค่าโครงการประมาณ 6,500 ล้านบาท โดยเบื้องต้นราคาขายเฉลี่ย 2.5 แสนบาทต่อตร.ม. และสูงสุดต่อยูนิต 150-300 ล้านบาท
  2. โครงการ ไอดีโอ พหล – สะพานควาย เพียง 0 ม. จากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานควาย กับ Design Concept ใหม่ห้อง Hybrid New Series เพื่อชีวิตคน GEN C ด้วยที่สุดของทำเล  อีกทั้งยังรายล้อมไปด้วยแหล่งไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของคนเมือง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ และส่วนกลางแนวคิดใหม่ เพื่อทุกโหมดของการใช้ชีวิต LIVE – WORK – PLAY – LEARN มูลค่าโครงการประมาณ 8,100 ล้านบาท

" สำหรับแผนลงทุนในอนาคตสำหรับปี 2566 บริษัทฯมีแผนการลงทุน 10 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 21,200 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแนวราบ จำนวน 4 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 7,200 ล้านบาท โครงการคอนโดมิเนียม จำนวน 4 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท และธุรกิจ Serviced Apartments จำนวน 2 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดคาดว่าจะเป็นโครงการร่วมทุน ( JV ) " 

สต็อกโครงการพร้อมอยู่ - พร้อมขาย กว่า 7.4 หมื่นล้าน คือ บลูชิพทางธุรกิจ 

ขณะหัวเรือใหญ่ นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2566 ว่า ปีนี้ ถือเป็นปีแห่งโอกาสของอสังหาฯไทย และ อนันดา  โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวกต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่มีแนวโน้มการเติบโตตามสภาพเศรษฐกิจ 

\'อนันดา\' เชื่อ คดีแอชตันอโศก จบดี ดันยูนิตพร้อมขาย 7.4 หมื่นล้านแข่งอสังหาฯ

ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังมีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับอนันดาฯ ผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าคนเมืองทั้งตลาดคอนโดและแนวราบในเมืองได้เป็นอย่างดีจึงพร้อมเดินหน้าภายใต้แนวคิด “Ananda Ride the Wave” เพื่อเตรียมรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามา 

อนันดาฯ  มองเห็นโอกาสจากการที่ต่างชาติเปิดประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความต้องการโครงการที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่พร้อมโอนบนทำเลศักยภาพ นอกจากนี้ อนันดาฯ มีความพร้อมเป็นอย่างมากเพื่อรองรับดีมานด์ดังกล่าว

โดยมีสินค้าที่ดีและมีคุณภาพพร้อมอยู่พร้อมโอนบนทำเลที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ (Blue Chip Location)    ครบทุกเซกเม้นท์ ในราคาที่ยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาของที่ดินที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพคอนโดติดรถไฟฟ้าว่ายังเป็นสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้ชีวิตของคนเมืองได้เป็นอย่างดี 

\'อนันดา\' เชื่อ คดีแอชตันอโศก จบดี ดันยูนิตพร้อมขาย 7.4 หมื่นล้านแข่งอสังหาฯ

โดยล่าสุดบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ในมือมูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทยังมีโครงการพร้อมขาย (Inventory) มูลค่ารวมประมาณ 4.5หมื่นล้านบาท จาก 37 โครงการ เป็นสินค้าพร้อมโอน (RTM : READY TO MOVE) ราว 3.48 หมื่นล้านบาท

ในปี 2566 จะมีโครงการที่สร้างเสร็จใหม่มูลค่าอีกประมาณ 10,012 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณารวมแล้ว กับอีก 2 โปรเจ็กต์ขึ้นใหม่ในปีนี้ อนันดา จะมีของในมือพร้อมเป็นกระสุน สร้างยอดขายและรายได้ในอนาคตมากกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท

“ อนันดาฯ มีความมั่นใจว่า ด้วยโอกาสและปัจจัยบวกที่กำลังเข้ามาในปีนี้ บริษัทฯ มีสินค้าที่ดีที่สุดพร้อมอยู่พร้อมโอนบนทำเลศักยภาพ จะสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าคนเมืองได้ครบทุกเซกเม้นท์รวมถึงลูกค้าต่างชาติ และการขยายสู่ธุรกิจใหม่ของอนันดาฯ จะเป็นโอกาสที่ดีในการเติบโตของบริษัทฯอย่างแน่นอน” 

ส่วนธุรกิจ เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ ปีนี้ จะเริ่มสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง จาก 5 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9

 2.โครงการแอสคอทท์ ทองหล่อ บางกอก

3.โครงการแอสคอทท์ เอ็มบาสซี สาทร

 4.โครงการไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก และ

5.โครงการซัมเมอร์เซ็ต พัทยา ด้วยปัจจัยบวกโดยตรงจากการเปิดประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และพัทยา เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก 

\'อนันดา\' เชื่อ คดีแอชตันอโศก จบดี ดันยูนิตพร้อมขาย 7.4 หมื่นล้านแข่งอสังหาฯ

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายยอดโอนกรรมสิทธิ์ปี 2566 ไว้ที่ 14,500 ล้านบาท เติบโตประมาณ 20% จากปีก่อน พร้อมวางเป้าหมายเพิ่มความสามารถทำกำไร โดยมีนโยบายเพิ่มอัตรากำไรขั้นตันให้อยู่ที่ระดับ 30.6%

จากปีก่อนที่ 25% จากการปรับราคาขายสินค้า และไม่ลดราคาขายเพื่อแข่งขันในตลาด ประกอบกับธุรกิจ Serviced Apartment ในปี 2566 จะเริ่มสร้างผลตอบแทน หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทจะสามารถพลิกมีกำไร (เทิร์นอะราวด์) ได้