ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ การฟื้นตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากผลกระทบโควิด-19 ประเมินอสังหาฯ ปีนี้ ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทั่วถึง ความเสี่ยง คือ ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องของบริษัทที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านแนวโน้ม รายเล็ก - รายกลาง ยังน่าเป็นห่วง
แข่งเดือด รายใหญ่ได้เปรียบ
เช่นเดียวกับ มุมมองของกูรูอสังหาฯไทย คาด ปีนี้ อสังหาฯแข่งขันดุเดือด รายกลาง-รายเล็ก อาจเจอศึกหนัก เพราะ รายใหญ่ มั่นใจลุยเปิดโครงการ แบบยักษ์ชนยักษ์ เบียดชิงมาร์เก็ตแชร์ ส่วนหนึ่ง มาจากการพัฒนาและปรับตัวเร็วมาก กับวิกฤติโควิด -19 ก่อนปี 2565 เริ่มรอดพ้น โดยธุรกิจ บ้าน-คอนโด กลับมาสร้างยอดขายได้สูง เทียบปี 2562 อีกครั้ง
ทั้งนี้ ความพร้อมทรัพยากรด้านต่างๆ คือ ความได้เปรียบของรายใหญ่ ทั้ง ต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่า มีพร้อมมากกว่า มีทีมงานมืออาชีพ และแบรนด์ที่น่าเชื่อถือดี ประเมิน 10 บริษัทอสังหาฯขาใหญ่ในตลาด จะกินมาร์เก็ตแชร์รวมกันมากขึ้นไปอีก อย่างต่ำ 70-80% ของตลาด
อสังหาดัง ลุยแผนใหญ่ เจาะต่างชาติ
"ฐานเศรษฐกิจ" เกาะติด จับกลยุทธ์ แผนธุรกิจของอสังหาฯรายใหญ่ พบมีมูฟเม้นท์ที่น่าจับตามองหลายๆ บริษัท โดยเฉพาะ การเตรียมแผน ตั้งรับการกลับมาของตลาดลูกค้าต่างชาติ ที่นาทีนี้ ไม่ได้มีแค่ "ชาวจีน" แต่ปีที่ผ่านมา รัสเซีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็มีสัดส่วน ครอบครองอสังหาฯไทยมากขึ้น ขณะที่น่าสนใจสุด กลับเป็นลูกค้า กลุ่ม "อาเซียน" เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม
นั่นทำให้ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่เปิดตลาดต่างชาติ มามากกว่า 10 ปี กำลังทำงานกับเอเจนท์ (ตัวแทนซื้อ-ขาย) อย่างหนัก เพื่อตีตลาดให้กว้างขึ้นจาก จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และรัสเซีย สู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน 10% โดยเฉพาะ กลุ่มเมียนมาร์
อีกทั้ง ล่าสุด เพิ่งจับมือกับ “ไนท์สบริดจ์ พาร์ทเนอร์” เอเจนท์ระดับบิ๊กในฮ่องกง พร้อมทีมขายกว่า 400 บริษัท ดันโครงการ “FLO by Sansiri” คอนโดใหม่วิวแม่น้ำมูลค่า 2.3 พันล้านบาท ไปโรดโชว์ในฮ่องกง ภายใต้ความเชื่อมั่น ว่า ทั่วโลกเปิดประเทศ จะดันยอดขาย-ยอดโอนคอนโดฯเต็มโควต้าตลาดต่างชาติ ปีนี้ ตามเป้า 1.2 หมื่นล้านบาท
ขณะในฝั่งการร่วมทุนพัฒนาโปรเจ็กต์นั้น พบ บิ๊กมูฟที่น่าจับตา คือ แผนเขย่าวงการ 7.7 หมื่นล้านบาท ของบมจ.เอพี ไทยแลนด์ ที่มาพร้อมกับ การเปิดโครงการคอนโดฯ ใหม่ 4 โครงการ ล็อตใหญ่มูลค่ารวม 1.18 หมื่นล้านบาท โดยมีทุนใหญ่ญี่ปุ่น 'มิตซูบิชิ เอสเตท' ร่วมลงทุนด้วยทั้งหมด โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 2 บริษัท มีโครงการร่วมกันแล้ว 21 โครงการ กว่า 1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับตลาดคอนโดฯ ยังต้องรอจับตา ดู การจับมือกันของพันธมิตรเหนียวแน่น ระหว่างคู่ของ บมจ. ออริจิ้น กับ 'โนมูระ เรียลเอสเตท ' และ คู่ของ บมจ.เสนาฯ กับ ฮันคิว ฮันชิน ว่าปีนี้ จะกลับมาเพิ่มสีสันให้ตลาดอย่างไรบ้าง เมื่อ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และ มีพันธมิตรที่เป็นทั้งกระเป๋าเงิน และ นายหน้าเรียกแขกประเทศต้นทาง จะช่วยเพิ่มโอกาสอย่างไรบ้าง
อนันดาฯ รอผงาด รับคลื่นต่างชาติ
ด้าน บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งเคยตกที่นั่งลำบากในช่วงโควิด -19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพราะ การหดหายไปของลูกค้าต่างชาติ มีสถานะ 'ขาดทุน' ล่าสุด นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อนันดา ระบุว่า ปีนี้บริษัทจะพลิกกลับมามีกำไรอย่างแน่นอน จากโอกาส ต่างชาติเปิดประเทศ เพราะบริษัทมีคอนโดฯพร้อมอยู่ - พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ จุดแข็ง โลเคชั่นกลางเมือง ไม่ต่ำกว่า 30 โปรเจ็กต์ มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท ไว้รองรับ
" คลื่นกำลังซื้อต่างชาติ ที่กำลังจะทะลักเข้าไทยมาอย่างมหาศาล โดยเฉพาะ กลุ่มนักธุรกิจ ,นักลงทุน, กลุ่มเทคโนโลยี รวมถึง คนจีนมีเงิน ที่พยายามหนีออกจากจีน นั่นคือโอกาส คงถึง เวลาของเรา "
จับตาดึง 'บิ๊กพาร์ทเนอร์' ปลุกแบรนเด็ดเรสซิเดนท์
ในหมัดเด็ดของอนันดาฯปีนี้ ยังเผยว่า จะเปิดใหม่เพียง 2 โครงการ แต่จะเป็น 2 โครงการระดับเฟล็กชิฟ ซึ่งนอกจาก การรีโปรเจ็กต์ ย่าน สะพานควายค้างเก่า ในนามใหม่ 'ไอดีโอ พหล – สะพานควาย' มูลค่า 8.1 พันล้านบาทแล้ว คือ การปั้น โครงการในรูปแบบ แบรนด์เด็ดเรสซิเดนท์ (คอนโดฯจับมือร่วมกับแบรนด์ เพิ่้มจุดต่างจากพาร์ทเนอร์) บนทำเลใจกลางสุขุมวิท (สุขุมวิท 38) กับพันธมิตรระดับโลก ที่อนันดาชูว่า จะเป็นที่สุดของความร่วมมือไม่เคยมีมาก่อนในไทย มูลค่า 6.5พันล้านบาท ด้วยราคาสูงสุดต่อยูนิต 150-300 ล้านบาท (แพงที่สุดเท่าที่เคยทำมา)
ประเด็นนี้ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อนันดาฯ ให้เหตุผลว่า นี่จะเป็นกลยุทธ์เด็ด เจาะตลาดอินเตอร์ ทำงานควบคู่กับ เอเจนท์ต่างชาติในมือกว่า 200 ราย ที่พร้อมนำโปรดักส์ไปโรดโชว์ทั้งใน ญี่ปุ่น ,อังกฤษ ,จีน ,เมียนมาร์ ,ไต้หวัน ,ฮ่องกง และ สหรัฐ ฯ
การแข่งขันอสังหาฯปีนี้ ต้องมีความต่าง และหากรายใด ไม่มีพันธมิตรทางธุรกิจ หรือ นายทุน รวมไปถึง เอเจนท์ รายนั้นจะไปต่อไม่ได้ เพราะโมเดลอสังหาฯ เปลี่ยนไปมาก และการเจาะตลาดต่างชาติ ที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ อนันดา นับเป็นอสังหาฯรายแรกๆในไทย ที่ใช้กลยุทธ์ ร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติ โดยพันธมิตรหลัก คือ มิตซุยฟูโดซัง กลุ่มทุนจากญี่ปุ่น
ตลาดบ้านหรูคึก 'ญี่ปุ่น'ร่วมลงทุน
สัญญาณเศรษฐกิจไทย ที่กลับมาฟื้นตัวดี ยังทำให้ ตลาดบ้านหรูไทย ซึ่งโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด เป็นที่แตะตาต้องใจ ของกลุ่มทุนต่างชาติเช่นกัน โดยเห็นการขยับจาก Top5 บมจ. “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” เพิ่มการร่วมทุนกับ “ซูมิโตโม ฟอเรสทรี” เพิ่มอีก 1 โครงการ มูลค่า 2.2 พันล้านบาท ภายใต้แบรนด์ ' เพอร์เฟค เพลส ' ทำเล ราชพฤกษ์ตัดใหม่ ราคา 6-17 ล้านบาท เพื่อตั้งรับการกลับมาของลูกค้าภาคธุรกิจท่องเที่ยว และ สายการบิน โดย ตั้งเป้ายอดขาย เฉพาะโครงการร่วมทุน (เก่า+ใหม่) เติบโตขึ้น 62% ที่ 6.4พันล้าน (คอนโด+บ้าน)
นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บมจ. พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เผย 'ฐานเศรษฐกิจ' ว่า ปัจจุบัน บริษัทร่วมทุนกับ ต่างชาติ หลัก 3 ราย ทั้งกลุ่มทุนจากฮ่องกง-สิงคโปร์ (ฮ่องกงแลนด์) และ กลุ่มญี่ปุ่น (ซูมิโตโม ฟอเรสทรี ,เซกิซุย เคมิคอล) โดยทั้งหมด มีมุมมองเป็นบวกอย่างมาก ต่อการลงทุนในอสังหาฯไทยระยะยาว โดยเฉพาะ การลงทุนในแนวราบ เนื่องจาก ถ้าเทียบกับ การเข้าไปลงทุนใน สิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยอดขายในไทยเกิดขึ้นดีที่สุด นี่จึงถือเป็นจังหวะที่สำคัญในการพัฒนาโครงการ เพื่อรับโอกาสร่วมกัน
ขณะก่อนหน้า บริษัท เดอะเนสท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ของตระกูลดัง มหากิจศิริ เพิ่งสร้างความแปลกใหม่ให้วงการบ้านหรู ผ่านการดึง กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ KRD แห่งญี่ปุ่น เข้ามาร่วมลงทุนต่อยอดจากคอนโดดัง 125 สาทร สู่ กลุ่มบ้าน ลักชัวรี อีก 2 โปรเจ็กต์ มูลค่า อีก 3.9 พันล้านบาทอีกด้วย
จีนเปิดบ้าน กระตุ้นบ้านหลัง 2 ยูนิตแพงในไทย
ทั้งนี้ ทำเลศักยภาพ ที่คนจีนมีความต้องการซื้อคอนโดฯในไทย จากข้อมูลของ เอเจนท์รายใหญ่ โควต้าต่างชาติ “แองเจิล เรียลเอสเตทฯ” ระบุว่า หลักๆยังเป็นทำเลเดิมที่คุ้นเคย ได้แก่ โซนสุขุมวิท ,สาทร ,สีลม ,รัชดาภิเษก ,พระราม9 ,รามคำแหง และเส้นศรีนครินทร์ (ที่อยู่ใกล้เมือง) จะขายดี ขณะทำเลที่คนจีนและคนต่างชาติไม่คุ้นเคย ได้แก่ แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง ,สีชมพู หรือทำเลนนทบุรี เป็นต้น
โดย นายไซม่อน ลี ประธานกรรมการ แองเจิล ฯ กล่าวว่า ความน่าสนใจ ในตลาดอินเตอร์ กับอสังหาฯไทย ในมุมเอเจนท์ คือ ยูนิตราคาแพง ที่เห็นสัญญาณดีมานด์ความต้องการของผู้ซื้อหลัก 'ชาวจีน' ที่จากเดิมพอร์ตหลักราคาจะอยู่ที่ 5-15 ล้านบาทต่อยูนิต แต่พบกลุ่มราคา 30 ล้านบาทขึ้นไป จนไปถึงระดับ 150 ล้านบาทต่อยูนิต มีแนวโน้มมากขึ้น จากกลุ่มที่จะซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ไม่ใช่ลงทุนอย่างในอดีต เพราะ คนจีนหลายๆคน อยากจะออกมา เพื่อต้องการมีบ้านหลังที่สอง วิเคราะห์หลังจีนเปิดประเทศ ใช้เวลา 7-8 เดือน จะเห็นผลเชิงบวกกับอสังหาฯไทยอย่างชัดเจน