16 ก.พ.2566 - แม้ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ปี 2565 เพิ่ม 21.1% สูงสุดหลังจากเกิด COVID-19 กลายเป็นภาพความสดใส และเรียกความเชื่อมั่นในฝั่งผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ให้หันกลับมาลงทุนกันอย่างคึกคักในปีนี้ ภายใต้ความเชื่อว่า ตลาดจะไปต่อ ...
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียด ต้องยอมรับว่า การขยายตัวของตลาดเมื่อปี 2565 ล้วนเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล รวมไปถึง การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่อนปรน LTV อีกทั้ง ปีก่อน อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และ ราคาที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ยังไม่ปรับตัวนัก รวมถึงสภาพเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวได้รับประโยชน์จาการเข้ามาท่องเที่ยวของคนต่างชาติ
ปัจจัยลบ ฉุดขาขึ้นอสังหาฯ ปี 66
ส่วนทิศทางของตลาดอสังหาฯปีนี้ ดูเหมือนจะมีภาพที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก โดย ล่าสุด ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ประเมินว่า อสังหาฯปีนี้ มีปัจจัยลบที่เข้ามากระทำต่อตลาดในหลายด้าน ได้แก่
ทั้งนี้ REIC จึงคาดการณ์ว่าในปี 2566 ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงจากปี 2565 เล็กน้อยอยู่ที่ 90.2 จุด หรือลดลง ประมาณร้อยละ -1.6 สำหรับกรณีฐาน (Base Case) และหากมีปัจจัยบวกที่ดีกว่าที่คาดไว้อาจจะมีการขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8.2 (Best Case) แต่หากมีปัจจัยที่ส่งผลรุนแรงกว่าที่คาดไว้ อาจจะติดลบได้ถึงร้อยละ -11.5 (Worst Case)
"ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปีนี้ คือ ราคาที่อยู่อาศัยที่มีการปรับตัวขึ้น และ ไม่มีการผ่อนปรน LTV แต่รายได้ของประชาชนยังปรับตัวดีขึ้นไม่แข็งแรง จะทำให้ความสามารถการซื้อและการกู้ลดลง และจะกระทบต่อยอดขาย และ ยอดโอนกรรสิทธิ์ อีกทั้ง เศรษฐกิจไทย ที่ยังต้องติดตามต่อ ว่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่หรือไม่ เพราะขณะนี้มีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งถ้าปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ขยายตัว ก็จะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยได้ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในตอนนี้ "
อีก 98,132 หน่วย จ่อเข้าใหม่ในตลาด สวนดีมานด์ลด 10%
โดย ในปี 2566 REIC คาดการณ์ ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะมีจำนวนประมาณ 98,132 หน่วย แม้ภาพรวมลดลงร้อยละ -2.1 แต่เจาะลึก โครงการบ้านจัดสรร ยัง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 จำนวนประมาณ 58,046 หน่วย ขณะ โครงการอาคารชุดจะมีจำนวนประมาณ 40,086 หน่วย ลดลงร้อยละ -22.4
ภายใต้ อุปสงค์ที่อยู่อาศัยปีนี้ ที่ประเมินว่าจะปรับตัวลดลง ซึ่งจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประมาณ 352,761 หน่วย ลดลงร้อยละ -10.2 จะมีมูลค่าประมาณ 1,016,838 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.5 แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวนประมาณ 264,571 หน่วย ลดลงร้อยละ -7.4 มูลค่าประมาณ 753,628 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.9 โอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดพักอาศัยมีจำนวนประมาณ 88,190 หน่วย ลดลงร้อยละ -17.7 มูลค่าประมาณ 263,210 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -8.8
ทั้งนี้คาดว่าจะกระทบยอดการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ ทั่วประเทศ ปี 2566 อาจจะมีจำนวนรวมประมาณ 650,764 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.8 และมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศจำนวนประมาณ 4,955,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปี 2565
ห่วงผู้พัฒนา โหมเปิดบ้านราคามากกว่า 10 ล้าน
ดร.วิชัย ยังมีความกังวล ในความร้อนแรงของตลาดบ้านหรู ราคามากกว่า 10 ล้านบาท ผ่านการบุกหนักเปิดโครงการใหม่เป็นจำนวนมากของผู้พัฒนาฯหลายบริษัทในปีนี้ ต่อเนื่องจากปี 2565 ที่มีการเปลี่ยนทิศทาง จากการเปิดโครงการทาวน์เฮ้าส์ หรือ บ้านระดับกลาง มาสู่บ้านหรูกันมากขึ้น เพราะต้องการหนีจากยอดปฎิเสธสินเชื่อ หรือ รีเจ็กต์ที่พุ่งขึ้นมาในตลาดดังกล่าวช่วงโควิด ขณะ บ้านหรู มีมูลค่า ขายได้ และ หมุนกลับเป็นรายได้สูง ทำให้แห่เปิดโครงการรองรับกันเป็นจำนวนมาก และ แนวโน้มการประกาศแผนธุรกิจของบริษัทใหญ่ๆในปีนี้ ก็ยังเป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ดี REIC พบว่า บ้านแนวราบราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป มีการโอนกรรมสิทธิ์สะสมทั้งประเทศ ณ สิ้นปี 2565 เพียง 7,000 หน่วย ขณะเมื่อปี 2563-2565 มีหน่วยเปิดสะสม เฉลี่ยปีละ 3,000 หน่วย จึงอาจเป็นจุดที่ต้องพิจารณา ว่าระหว่าง ดีมานด์ และ ซัพพลายใหม่ มีความสมดุลกันหรือไม่ เพราะถ้าซัพพลายเกิน การขายจะยากขึ้น ขณะกลุ่มผู้ซื้อในตลาดดังกล่าว มีไม่มาก
อีกทั้ง การซื้อในตลาดนี้ ส่วนหนึ่งยังมาจากบ้านมือสองมากถึง 2,700 หน่วยอีกด้วย นั่นหมายถึง ยังมีการแข่งขันออกมาจากบ้านมือสองด้วย ซึ่งผู้พัฒนาจะต้องระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่