กว่า 17 ปี ที่"บีทีเอส"ผู้บุกเบิกธุรกิจเดินรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ จากช่วงเริ่มแรกที่มีรถให้บริการเพียง 35 ขบวน ขนาด 3 ตู้ รวมทั้งสิ้น 105 ตู้ และเมื่อจำนวนผู้โดยสารเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัทได้เพิ่มจำนวนรถเพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสาร โดยเพิ่มความยาวของขบวนรถเป็น 4 ตู้ต่อขบวน รวมทั้งได้ซื้อขบวนรถมาเพิ่มเติมจนปัจจุบันมีจำนวนรถที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว มีจำนวนทั้งสิ้น 52 ขบวน ความยาวขบวนละ 4 ตู้ รวมเป็นจำนวน 208 ตู้ และล่าสุดได้เซ็นสัญญาซื้อรถไฟฟ้าอีก 46 ขบวน (184 ตู้)
ทั้งนี้ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ให้สัมภาษณ์ถึงความจำเป็นในการลงทุนและการสนองนโยบายของรัฐบาลในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังไม่ค่อยโดนใจกับนักลงทุนอีกหลายคนดังนี้
ทุ่ม 1.1 หมื่นล.ซื้อขบวนรถใหม่
การลงทุนครั้งใหญ่ในปี 2559 นี้ บีทีเอสได้ทำการสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มอีกจำนวน 46 ขบวน ความยาวขบวนละ 4 ตู้ รวมเป็น 184 ตู้ รวมมูลค่าการลงทุน 1.1หมื่นล้านบาท ทำให้บีทีเอสจะมีตู้โดยสารเพิ่มเป็น 392 ตู้สามารถรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทั้งในเส้นทางปัจจุบันและเส้นทางส่วนต่อขยายไปสมุทรปราการและคูคต
"การสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าในคราวนี้นับว่าเป็นการสั่งซื้อรถไฟฟ้าครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย โดยบีทีเอสได้เชิญผู้ผลิตจากทั่วโลกเพื่อมายื่นข้อเสนอ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจที่บริษัทต่างๆ มีต่อการลงทุนของไทยด้วยเช่นกัน โดยได้สั่งซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 24 ขบวน และสั่งซื้อจากบริษัท ซีเมนส์ฯ สหพันธรัฐเยอรมนี จำนวน 22 ขบวน โดยประการหนึ่งคือได้พยายามให้มีการใช้ทรัพยากรภายในประเทศไทยให้มากที่สุด อาทิ เก้าอี้ ห่วง และราวจับ โคมไฟ เป็นต้น และยังทำการประกอบขบวนรถขั้นตอนสุดท้ายในประเทศไทยเพื่อสร้างงานให้กับคนไทย"
เล็งลงทุนไฮสปีดเทรน/รถไฟฟ้า
เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรนวิ่งให้บริการระหว่างจังหวัด ยังเห็นว่ารัฐควรจะลงทุนในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนสนใจจะเข้าไปลงทุนด้านการเดินรถและบริหารจัดการมากกว่า หากมีโอกาสเข้าไปลงทุนบีทีเอสยังสนใจด้านการเดินรถมากกว่า เบื้องต้นยังต้องรอดูความชัดเจนก่อนว่ารัฐจะเปิดเดินรถเส้นทางไหนและใช้งบประมาณจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากจะต้องใช้งบหลักแสนล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาเส้นใดเส้นหนึ่ง โดยยังเน้นไปที่โครงการรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมืองมากกว่า อาทิ สายสีส้ม ชมพู และสายสีเหลือง ที่กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งผลักดัน โดยเฉพาะการเดินรถสายสีส้มบีทีเอสยืนยันจะเข้าร่วมประมูลด้วย เนื่องจากบีทีเอสเดินมาทางสายอาชีพนี้ก็จะเข้าประมูลทุกเส้นทางที่เปิดโอกาสให้เข้าร่วมประมูล
"บีทีเอสลงทุนหลักคือการเดินรถไฟฟ้า เน้นการขนส่งทางราง ไฮสปีดเทรนไม่ใช่ว่าไม่สนใจ แต่ขอรอดูว่าทีโออาร์จะกำหนดออกมาเป็นอย่างไร ตลอดจนรูปแบบการลงทุนที่ยังไม่ชัดเจน จึงขอให้เวลาดำเนินการในส่วนงานที่เร่งรัดกว่าไปก่อน บีทีเอสซึ่งถือเป็นผู้ลงทุนรถไฟฟ้ารายแรก ปัจจุบันมีแล้ว 2-3 รายจึงน่าจะมีโอกาสดูและให้บริการรถไฟฟ้าได้อีกมากมาย เช่นเดียวกับการใช้ระบบตั๋วร่วมปัจจุบันบีทีเอสถือว่าเป็นผู้นำรายแรก ส่วนระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคมนั้นขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะมีความพร้อมเมื่อใดเท่านั้น"
มองโอกาสลงทุนระบบรางในภูมิภาค
เช่นเดียวกับรถไฟเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เร่งผลักดันเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจและประตูการค้าชายแดนในโซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังเห็นว่าน่าลงทุนไม่น้อยเช่นกัน ตลอดจนเส้นทางขอนแก่น-ท่าเรือแหลมฉบังที่จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนด้วยระบบรถไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสินค้าเป็นเส้นทางเชื่อมจากขอนแก่นไปยังท่าเรือแหลมฉบังบีทีเอสก็ขอรอดูความชัดเจนของโครงการเพื่อตัดสินใจลงทุนกันต่อไป
"การลงทุนรอบใหม่นี้จะผิดพลาดอีกไม่ได้ คงจะไม่ง่ายที่จะมีโอกาสแก้ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมาเพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ประการสำคัญบีทีเอสอยู่ในไลน์การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาระบบรางมากกว่า จึงอยากให้รัฐเร่งสรุปความชัดเจนแต่ละโครงการให้ออกมาเป็นรูปธรรมโดยเร็วเพื่อนักลงทุนจะได้ตัดสินใจลงทุนได้ตรงตามเป้าหมายของแต่ละรายนั่นเอง"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559