"การทางพิเศษ" ลุยเปิดประมูลสร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 2.4 หมื่นล้าน

01 เม.ย. 2566 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2566 | 11:36 น.

"การทางพิเศษ" จ่อเปิดประมูล 5 สัญญา สร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 2.4 หมื่นล้านบาท ภายในเดือ นพ.ค.นี้ เร่งก่อสร้างต้นปี 67 เตรียมเปิดให้บริการปี 70 รองนับแผนเชื่อมถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3

ชาตรี ตันศิริ

 นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ(ด่วน) ฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร(กม.) เบื้องต้นกทพ.จะออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการฯ ภายในเดือนพ.ค.นี้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลปลายปี 66 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน พร้อมเปิดให้บริการประมาณต้นปี 70 ทั้งนี้โครงการฯ วงเงินอยู่ที่ประมาณ 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (พื้นที่เวนคืน 471 ไร่ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 134 หลัง) ประมาณ 3,700 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 20,300 ล้านบาท

           \"การทางพิเศษ\"  ลุยเปิดประมูลสร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 2.4 หมื่นล้าน

สำหรับการประมูลโครงการฯ แบ่งเป็น 5 สัญญา โดยเป็นงานก่อสร้าง 4 สัญญา และงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง และระบบควบคุมจราจร 1 สัญญา ซึ่งจะเปิดประมูลพร้อมกันทั้ง 5 สัญญา ส่วนรายละเอียดเงื่อนไขการเข้าร่วมประมูล(TOR) โครงการฯ คณะกรรมการ TOR จะเป็นผู้กำหนดอีกครั้ง แต่เบื้องต้นตามหลักการประมูลโครงการของ กทพ. ที่ผ่านมา คุณสมบัติของผู้ที่สามารถจะเข้าร่วมประมูลได้ อาทิ เป็นบริษัทผู้รับเหมาที่มีผลงานสะพานความยาวช่วงไม่น้อยกว่า 30 เมตร และเคยบริหารสัญญาที่มีวงเงินโครงการตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น

 

 

ส่วนจุดไฮไลท์ของทางด่วนสายนี้อยู่ที่พื้นที่บริการทางพิเศษ หรือจุดพักรถ (Service Area) บนเนื้อที่ประมาณ 64  ไร่ โดยจะตั้งอยู่บริเวณคลอง 9 ซึ่งจะทำเป็นอาคารคร่อมทางด่วน สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งสองฝั่งถนน โดยจะมีพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ พื้นที่จอดรถขนาดเล็ก อาคารสถานีตำรวจและกู้ภัย ร้านค้า สำนักงานของ กทพ. เพื่อให้บริการประชาชน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ห้องน้ำ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger Station)

 

\"การทางพิเศษ\"  ลุยเปิดประมูลสร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 2.4 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่บริการทางพิเศษนั้น ทางผู้ชนะประมูลจะเป็นผู้ก่อสร้าง แต่การบริหารจัดการเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ทาง กทพ. จะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยอาคารคร่อมทางด่วนนี้จะมีลักษณะเหมือนห้างสรรพสินค้า เหมือนกับทางด่วนที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะมีผู้ใช้ทางด่วนบางส่วน ขึ้นมาใช้ทางด่วน เพื่อมาแวะห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียวก็มี ช่วยทำให้มีผู้ใช้ทางเพิ่มขึ้น

 

 

 นายชาตรี กล่าวด้วยว่า ทางด่วนสายนี้สามารถรองรับความเร็วได้ 120 กม.ต่อชั่วโมง(ชม.) จะจำกัดความเร็วบริเวณทางร่วม และทางแยกต่างระดับ ใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นคันต่อวัน อัตราค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท  โดยทางด่วนสายนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนระหว่าง จ.ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา ทั้งที่เปิดบริการแล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนา 

สำหรับการเชื่อมต่อกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) ของกรมทางหลวง(ทล.) นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานอีไอเอ เพื่อต่อขยายเพิ่มในส่วนปลายทางจาก ถ.ลำลูกกาเชื่อมกับ MR 10 ซึ่งเตรียมเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นจุดเชื่อมต่อ MR10 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้

\"การทางพิเศษ\"  ลุยเปิดประมูลสร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 2.4 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตามหากงานทั้ง 2 ส่วนแล้วเสร็จ กทพ. จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่พิจารณาอนุมัติโครงการส่วนเชื่อมต่อ MR10 ต่อไป อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในส่วนนี้นั้น กทพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเปิดประมูลใหม่ หรือให้ผู้รับจ้างสัญญาที่ 4 ซึ่งเป็นสัญญาส่วนสุดท้ายของโครงการฯ ดำเนินการก่อสร้างต่อเลย ซึ่งหากเป็นแนวทางหลัง อาจต้องระบุเงื่อนไขปลายเปิดไว้ เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างส่วนที่เชื่อมต่อ MR10 ด้วย