นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ปัจจุบันได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อเริ่มดำเนินการในขั้นตอนประกวดราคาแล้ว หลังจากนี้ กทพ.เตรียมรายละเอียดเพื่อนำเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ส.ค.นี้ ก่อนจะเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างได้ในปี 2566 เริ่มงานก่อสร้างปี 2567 และเปิดให้บริการในปี 2569
ขณะเดียวกันโครงการทางด่วนสายนี้ เนื่องด้วยปัจจุบัน กทพ.ยังมีวงเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) เหลืออยู่ราว 1.4 หมื่นล้านบาท ที่จากเดิมจะเตรียมไว้สำหรับพัฒนาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N2 เชื่อมเกษตร – นวมินทร์ - ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก แต่เนื่องจากปัจจุบันโครงการ N2 ยังไม่ได้รับอนุมัติการลงทุน กทพ.จึงจะนำวงเงิน TFFIF ส่วนดังกล่าวมาลงทุนก่อสร้างโครงการทางด่วนฉลองรัช – นครนายก - สระบุรี
“โครงการทางด่วนนครนายก ตอนนี้เราก็จะเร่งนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการ ถ้าหากขั้นตอนส่วนนี้ไม่ติดขัดอะไร แน่นอนว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนี้ผลการศึกษาแล้วเสร็จ และการทางฯ เราก็มีงบประมาณที่จะลงทุนแล้ว ส่วนหนึ่งจะมาจากเงิน TFF และส่วนหนึ่งจะเป็นเงินลงทุนของการทางฯ เอง”
สำหรับโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี มีวงเงินลงทุนรวม 24,060 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,727 ล้านบาท ที่ต้องขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ค่าก่อสร้าง 19,387 ล้านบาท เป็นส่วนที่ กทพ.จะลงทุนเอง และค่าควบคุมงาน 496 ล้านบาท ซึ่งวงเงินส่วนที่ กทพ.จะต้องลงทุนเองนั้น มีแผนจัดหาเงินทุน แบ่งเป็น วงเงินจากกองทุน TFFIF 1.4 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นรายได้ของ กทพ.ที่มาจากการจัดเก็บค่าผ่านทางอีกราว 5 พันล้านบาท
“ขณะนี้ภาพรวมโครงการมีความพร้อมหมดแล้ว มีการจัดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนและส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ติดปัญหาอะไร ทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุนให้พัฒนาโครงการนี้ อีกทั้งโครงการสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ยังเป็นโครงข่ายสำคัญที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือและถนนพหลโยธิน”
รายงานข่าวจาก กทพ. ระบุว่า แผนพัฒนาโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะเริ่มจากจุดเชื่อมต่อจากทางพิเศษฉลองรัช (อาจณรงค์-รามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) บริเวณด่านจตุโชติมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตัดถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ และถนนลำลูกกา ซึ่งจะสิ้นสุดบริเวณถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของกรมทางหลวง (ทล.) มีระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร
ทั้งนี้แผนพัฒนาในระยะต่อไป กทพ.จะทยอยลงทุนเมื่อมีการเปิดให้บริการระยะแรกแล้วและมีปริมาณการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น ระยะที่ 2 มีแนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณถนนวงแหวนรอบที่ 3-ทางหลวงชนบท นย.3001 ไปยังถนนรังสิต-นครนายก บริเวณด้านหลังศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ระยะที่ 3 แนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากถนนรังสิต-นครนายก ขึ้นไปทางเหนือ ตัดผ่านทางหลวง 33 (ถนนสุวรรณศร) บริเวณ กม.116+000 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และระยะที่ 4 เริ่มต้นจากถนนสุวรรณศร-ทางเลี่ยงเมืองสระบุรี สิ้นสุดโครงการที่ถนนมิตรภาพ บริเวณ กม.10+700 อำเภอแก่งคอย สระบุรี ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร