อัพเดท รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดให้บริการ มิ.ย. 67

05 พ.ค. 2566 | 04:39 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2566 | 08:08 น.

อัพเดท รถไฟฟ้าสายสีชมพู บูมที่ดินทำเลทอง โซนตะวันออกกทม. เปิดให้บริการ มิ.ย. 67 โมโนเรลสายที่สองต่อจากสายสีเหลือง จุดพลุทำเลทอง มีนบุรี -แคราย

 

รถไฟฟ้าสายสีชมพู  โมโนเรล สาย ที่สอง ที่จะเปิดให้บริการ ต่อจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง รวมถึงช่วยสร้างความเจริญให้กับพื้นที่สะท้อนจากตลอดแนวมีโครงการคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะโซนตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน สายสีชมพูอยู่ระหว่างก่อสร้าง ความก้าวหน้าโครงการคืบหน้าไปมาก หากเปิดใช้บริการ จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายทางรางและอำนวยความสะดวกการเดินทาง จากย่านชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็ว  

 ขณะการเปิดให้บริการ มีรายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ระบุถึงแผนเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ว่า สามารถเริ่ม ทดลองการเดินรถได้ในเดือนมกราคม 2567 และมีกำหนดการเปิดให้บริการเดินรถตลอดเส้นทางภายในเดือนมิถุนายน 2567

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู  เป็น รถไฟฟ้ารางเดี่ยว(โมโนเรล)  ที่ก่อสร้างใน เขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดนนทบุรี มีระยะทางยาว 34.5 กิโลเมตร (21.4 ไมล์) จำนวน 30 สถานี  ดำเนินการโดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด โดยได้รับสัญญาสัมปทานในการดำเนินการตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงการเปิดให้บริการ

มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่  สถานี ศูนย์ ราชการนนทบุรี  อันเป็นสถานีเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สาย ฉลองรัชธรรม จากนั้นมุ่งหน้าขึ้นไปทางห้าแยกปากเกร็ด แล้วมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา และสิ้นสุดทั้งเส้นทางที่ สถานี มีนบุรี  ใกล้กับ แยก รามคำแหง -ร่มเกล้า ย่าน มีนบุรี อันเป็นสถานีเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้า มหานคร สายสีส้ม

 

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับเหนือพื้นดินตลอด  แนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือเป็นส่วนใหญ่ ตลอดจนพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนนทบุรี เริ่มต้นเส้นทางจากบริเวณแยกแคราย อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม วิ่งไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นเหนือตามแนว ถนน ติวานนท์  จนถึงบริเวณห้าแยกปากเกร็ด แนวเส้นทางจะมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนน แจ้งวัฒนะ

เมื่อผ่านทางพิเศษศรีรัช แนวเส้นทางจะแยกออกเป็นสองสาย โดยสายหลักจะมุ่งหน้าต่อเพื่อเข้าเขตกรุงเทพมหานครหลังพ้นแยกคลองประปา เมื่อพ้นวงเวียนหลักสี่ที่เป็นสถานีร่วมกับ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท

แนวเส้นทางจะยังคงมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนรามอินทรา และถนนสีหบุรานุกิจจนถึงตลาดมีนบุรี แล้วเส้นทางจะเบี่ยงขวาลงไปหาถนนรามคำแหง เพื่อสิ้นสุดที่แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รวมระยะทาง 36 กิโลเมตร และอีกสายหนึ่งจะวิ่งย้อนกลับขึ้นไปทางปากเกร็ดก่อนเข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 หรือซอยเข้าศูนย์การประชุมอิมแพค เพื่อเข้าสู่ใจกลาง เมืองทองธานี  อันเป็นที่ตั้งของ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี  รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร