น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่าน Facebook วันที่ 4 มิ.ย.66 ว่า รฟม.เวนคืนอาคารโบราณสถาน7คูหาบน ถ.พระสุเมรุเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าโดยอธิบดีกรมศิลปากรยังไม่อนุญาต ทำได้หรือไม่ !?!
โดยระบุว่า รฟม.กำลังก่อสร้างทางขึ้นลงรถไฟฟ้าสายสีม่วงในเกาะรัตนโกสินทร์ จุดที่เป็นสถานีผ่านฟ้าทางขึ้นลงที่1 รฟม.ตั้งเป้าจะก่อสร้างบนอาคารโบราณสถานที่รอขึ้นทะเบียน 7คูหา ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุตอนปลายนั้น
รฟม.กล่าวอ้างว่าได้เวนคืนและจ่ายค่าเวนคืนให้เอกชนเจ้าของอาคารแล้ว จึงไม่พิจารณาพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่โบราณสถาน ถ้าหากรฟม.จะอ้างเป็นเหตุผลว่าไม่สามารถเปลี่ยนสถานที่ขึ้นลงเป็นจุดอื่นได้แล้วนั้น เพราะได้เวนคืนอาคาร 7คูหาแล้ว ต้องถามว่าในเมื่ออธิบดีกรมศิลปากรยังไม่อนุญาต รฟม.เวนคืนอาคาร7 คูหา เป็นการกระทำที่ถูกขั้นตอนหรือไม่ !?
ท่านอธิบดีได้ประกาศต่อที่สาธารณะในการประชุมร่วม 3 ฝ่ายระหว่างกรมศิลปากร รฟม. และกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 ว่ายังไม่ได้อนุญาตรฟม.ใช้อาคาร7คูหาเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้า และ ท่านอธิบดียังประกาศต่อท่านประธานและคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะวัฒนธรรม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 วันที่คณะอนุกมธ.วุฒิสภา
และท่านอธิบดีกรมศิลปากรได้ลงพื้นที่เพื่อดูสถานที่ใกล้เคียงตามที่ทางกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์เสนอให้รฟม. พิจารณาใช้เป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้า โดยไม่รบกวนโบราณสถาน การที่ รฟม. เวนคืนอาคารโบราณสถาน7คูหานั้น มีวัตถุประสงค์จะบีบคั้นให้อธิบดีกรมศิลปากรต้องยินยอมอนุญาตแบบตกกระได พลอยโจน ใช่หรือไม่
เมื่อวันที่25 พฤษภาคม 2566 ดิฉันในฐานะประธานกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ได้รับหนังสือตอบจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ความว่า
“คณะกรรมการกรุงฯได้รับหนังสือร้องเรียนจากดิฉัน และมีมติรับทราบที่กลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)หาพื้นที่ใกล้เคียงเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าสายสีม่วงในกรุงรัตนโกสินทร์โดยไม่รบกวนโบราณสถาน และให้รฟม.ประสานกับกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”
ดิฉันหวังว่าการที่คณะกรรมการกรุงฯ มีมติรับทราบขอร้องเรียนของกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ และให้รฟม.ประสานกับกรมศิลปากรในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการกรุงฯให้ความสำคัญกับข้อร้องเรียนของดิฉัน ที่รฟม.ควรนำไปพิจารณา ไม่ใช่ยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวเท่านั้นว่าไม่สามารถเปลี่ยนจุดทางขึ้นลงรถไฟฟ้าที่1 บนอาคารโบราณสถานดังกล่าว
ตั้งแต่ปี2558-2565 รฟม.ได้รับหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร 3 ท่านรวมทั้งสิ้น 3-4 ฉบับ ให้หลีกเลี่ยงการรื้อถอนอาคารที่มีสถานะเป็นโบราณสถาน แต่รฟม.ไม่ได้สนใจรับฟังคำทักท้วง ยังคงดื้อดึงทำตามความต้องการที่จะใช้อาคารโบราณสถานเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีผ่านฟ้า ทั้งที่มีสถานที่ใกล้เคียงให้เลือกอีกอย่างน้อย 2 แห่ง ยิ่งกว่านั้น รฟม.ยังไปเวนคืนอาคารโบราณสถาน 7 คูหาอีกด้วย เหตุใดจึงไม่พิจารณาเปลี่ยนไปใช้สถานที่ใกล้เคียงอื่นที่มีให้เลือก เหตุใดต้องทำให้อธิบดีกรมศิลปากรลำบากใจ !?
ยิ่งกว่านั้น รฟม.ขณะนี้ได้เดินหน้าเจาะโครงสร้างภายในตึกแถวเก่า (สีส้ม 2 คูหา) มีการทุบผนังบางส่วนออก และมีการเจาะพื้นปูนเป็นช่องสี่เหลี่ยมแล้วขุดลงไปด้านล่างประมาณความกว้างยาวกว่า2เมตร× 2 เมตร แม้ภายนอกอาคารยังไม่ได้ทำอะไรก็ตาม เป็นการแสดงให้เห็นว่า รฟม.คิดว่าตนเองมีอำนาจทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ใช่หรือไม่ การกระทำนี้กรมศิลปากรได้อนุมัติให้ทำหรือไม่ ?! และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ช่วยตอบให้กระจ่างด้วย
การที่รฟม.ไม่พิจารณาหาพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้มีข้อสงสัยว่าเป็นการจงใจเอื้อประโยชน์เอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์บริเวณนั้นหรือไม่ เนื่องจากบริเวณนี้ต่อไปในอนาคตจะเป็นชุมทางสำคัญ (junction) เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ดินของเอกชนบริเวณนี้จะมีมูลค่าสูงขึ้น ในขณะที่อาคารโบราณสถานจะถูกทำลายเพราะรฟม.ไม่มีวิสัยทัศน์ในการอนุรักษ์อาคารโบราณสถานให้มีมูลค่าทั้งความงาม และเศรษฐกิจ โดยให้สิ่งเก่าอยู่ร่วมกับสิ่งใหม่ได้อย่างสมสมัย
น่าแปลกใจไหมว่า ทำไม! การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง รฟม.ต้องเจาะจงเลือกใช้แต่อาคารโบราณสถานตลอดเส้นทางในการทำทางขึ้นลงรถไฟฟ้า ทั้งที่เคยมีรายงานจากกระทรวงวัฒนธรรมส่งถึง รฟม.ว่าในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่าน จะมีโบราณสถาน โบราณวัตถุถึง 310 แห่ง เพื่อให้รฟม.หลีกเลี่ยงการก่อสร้างที่กระทบโบราณสถาน โบราณวัตถุเหล่านั้น
แต่ปรากฎว่า รฟม. ไม่ได้สนใจคำเตือนดังกล่าว ซึ่งเห็นได้จากที่เลือกรื้อโบราณสถาน เป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้า ดังที่เคยทำมาแล้วที่สถานีสามยอด หรือเพราะรฟม.เห็นว่าอาคารโบราณสถานเหล่านั้นไม่สามารถทำกำไรให้เอกชน ได้เหมือนกับพื้นที่ที่ไม่ใช่โบราณสถาน จึงเลือกไม่เวนคืนพื้นที่ของเอกชนเพื่อให้เอกชนสามารถทำกำไรจากมูลค่าเพิ่มของพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าผ่าน ใช่หรือไม่
รฟม.จะทำลายโบราณสถานไม่ใช่แค่อาคาร 7 คูหาตรงสถานีผ่านฟ้าเท่านั้น แต่จะลุกลามไปที่โรงพิมพ์ศรีหงษ์ ที่จะก่อสร้างสถานีบางขุนพรหม และโบราณสถานตึกแขกที่จะก่อสร้างสถานีศรีย่าน ถ้าไม่สามารถหยุดยั้ง รฟม.ในการทำลายอาคาร 7 คูหานี้ อาคาร อื่นๆตามเส้นทางรถไฟฟ้าตามที่กล่าวมา ซึ่งอดีตอธิบดีกรมศิลปากรเคยมีหนังสือให้รฟม.หลีกเลี่ยงนั้น คงจะไม่สามารถหยุดยั้ง รฟม.ได้ทั้งเส้นทาง ใช่หรือไม่