"ประยุทธ์" แจ้งข่าวดีแก้ข้อกฎหมายปัญหาขายฝากที่ดินไม่ชอบธรรม

14 มิ.ย. 2566 | 05:41 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2566 | 05:58 น.

"ประยุทธ์" แจ้งข่าวดีแก้ข้อกฎหมายปัญหาขายฝากที่ดินไม่ชอบธรรม เนื้อหาจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรส่วนใดบ้างเช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังอัพเดทข้อมูลล่าสุดผ่านเฟสบุ๊ก มุ่งคุ้มครองประชาชนและเกษตรกร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha โดยมีข้อความระบุถึงการแก้ไขปัญหาการขายฝากที่ดินไม่ชอบธรรม ว่า

การสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมยึดมั่นว่าจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในวันนี้จะแจ้งว่า มีความคืบหน้าอย่างมาก บรรลุการแก้ปัญหา "การขายฝาก" ที่ไม่ชอบธรรม  

เพื่อคุ้มครองพี่น้องประชาชนและเกษตรกร ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย พรากที่ดิน-ที่ทำกิน-ที่อยู่อาศัยไป เพราะความไม่เข้าใจกฎหมาย หรือโดนกลโกง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ปัญหาการสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดิน-ที่อยู่อาศัยในอดีต มักเกิดจาก

  • ประชาชน/เกษตรกรที่เดือดร้อนเรื่องเงิน มักเลือกทำ/ถูกโน้มน้าวให้ทำ "สัญญาขายฝาก" เพื่อแลกกับเงินจำนวนมากกว่า "สัญญาจำนอง" แต่เสี่ยงที่จะสูญเสียที่ดินไปง่ายกว่า เพราะต้องส่งมอบทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์ให้ผู้รับซื้อฝากทันที โดยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดิน-ที่อยู่นั้นได้ จนกว่าจะไถ่คืนจนครบจำนวน
  • ผู้รับซื้อฝากที่ไม่ซื่อสัตย์ มักใช้กลโกง ในการบ่ายเบี่ยง ไม่รับการจ่ายหนี้ ไม่รับการไถ่ถอน จนประชาชน/เกษตรกร "ผู้ขายฝาก" กลายเป็นผู้ผิดสัญญา แล้วถูกยึดทรัพย์ขายฝาก หรือไม่ก็ไม่ยอมคืนกรรมสิทธิ์/โฉนดนั้น อย่างไร้เหตุผล แม้จะชดใช้หนี้จนครบแล้วก็ตาม
  • กฎหมายขายฝาก "ฉบับเดิม" ไม่สามารถคุ้มครองทรัพย์สินของประชาชน/เกษตรกรที่ไม่รู้เท่าทัน ไม่เข้าใจกฎหมายขายฝาก-จำนอง จึงเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมของเราตลอดมา

แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของรัฐบาล คือ การปรับปรุงกฎหมาย-ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมาย ที่มักเป็น "เหยื่อ" จากการขายฝากที่ฉ้อฉล ได้แก่

  • กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝาก ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือที่อยู่อาศัย พ.ศ.2562 และ "ฉบับที่ 2" พ.ศ.2566 
  • ระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ ณ สำนักงานที่ดิน  ตามคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย  ตลอดจนสร้างกลไกในการทำงานของสำนักงานที่ดิน เช่น ปรับปรุงหลักเกณฑ์-วิธีการที่เกี่ยวเนื่องกับการขายฝาก, เพิ่มช่องทางการให้บริการ, จัดทำคู่มือและอบรมเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม, ทำฐานข้อมูลสัญญาขายฝาก-ผู้ขายฝาก-ผู้รับซื้อฝาก เป็นต้น

ผลทางการปฏิบัติที่ปิดจุดอ่อนกฎหมายขายฝากในอดีต โดยยึดหลักการสำคัญ คือ เมื่อ "ผู้ขายฝาก" จ่ายหนี้ครบ สามารถเอาที่ดินคืนได้ทันที แม้ "ผู้ซื้อฝาก" จะไม่ยอมคืนโฉนดก็ตาม ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติดังนี้

  • เมื่อผู้ขายฝากได้ชำระหนี้ หรือวางทรัพย์ที่สำนักงานที่ดินครบแล้ว
  • เจ้าพนักงานจะมีหนังสือแจ้งผู้ซื้อฝาก ให้มารับเงิน และนำเอกสารสิทธิ์(โฉนด) มา "จดทะเบียนไถ่" จากการขายฝาก
  • ถ้าผู้ซื้อฝากไม่มาติดต่อ หรือมา แต่ไม่นำเอกสารสิทธิ์มาด้วย ภายใน 30 วัน (นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง) เจ้าพนักงานสามารถออก "ใบแทนเอกสารสิทธิ์" ให้แก่ผู้ขายฝากได้ทันที

เปิดเนื้อหาแก้ข้อกฎหมายปัญหาขายฝากที่ดินไม่ชอบธรรม