ครม.คลอดกฎใหม่คุม "สร้างอาคารสูง" เพิ่มเกณฑ์ความปลอดภัยไฟไหม้

29 ส.ค. 2566 | 08:24 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2566 | 08:32 น.

ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ คุมการก่อสร้างอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โดยให้เพิ่มหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟไหม้ ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เทียบเท่ามาตรฐานสากล

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) 

มีสาระสำคัญ เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดด้านระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างและอุปกรณ์ ที่เป็นส่วนประกอบของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ให้มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าข้อกำหนดตามกฎกระทรวงการแก้ไขอาคารที่มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน 

หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 ให้เหมาะสม ทันสมัย มีมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านอัคคีภัยที่สูงขึ้น และอาคารมีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร 

โดย “อาคารสูง” หมายความว่า อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้โดยมีความสูงตั้งแต่ 23.00 ม. ขึ้นไป โดยวัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้าสำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด 

ส่วน “อาคารขนาดใหญ่พิเศษ” หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัย หรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตร.ม. ขึ้นไป

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับร่างกฎกระทรวง ฉบับนี้ มีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 

1. กำหนดคำนิยามเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน ดังนี้

“เขตทาง” (ความกว้างรวมของทาง) เพื่อแก้ไขปัญหาการวัดความกว้างเขตทาง ที่มีความไม่ชัดเจน “การกันแยก” กำหนดกั้นแยกพื้นที่อาคารออกเป็นส่วนๆ เพื่อป้องกัน ไม่ให้ไฟลุกลามระหว่างแต่ละส่วนของอาคาร ช่วยให้ผู้คนหลบหนีและลดความเสี่ยงของอาคารที่พังทลายลงจากการแพร่กระจายของไฟเรียกว่าการป้องกันอัคคีภัยแบบเชิงรับ (Passive Fire Protection) “ชั้นใต้ดิน” กำหนดพื้นที่ของอาคารชั้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับดิน มากกว่า 1.20 ม. 

2. เพิ่มเติมข้อความ ข้อกำหนดบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่มีการบังคับในปัจจุบันและตามมาตรฐานสากล ดังนี้

  • เพิ่มเติมรายละเอียดถนนสาธารณะเพื่อให้รถดับเพลิงวิ่งสวนกันได้ เดิมไม่ได้กำหนดถนนสาธารณะต้องมีผิวจราจรไว้
  • เพิ่มเติม ข้อกำหนดบันไดหนีไฟชั้นใต้ดิน 1-2 ชั้น ต้องจัดให้มีบันไดหนีไฟที่มีทางเข้าออกได้โดยสะดวก เดิมกำหนดชั้นใต้ดินตั้งแต่ 3 ชั้นลงมา
  • เพิ่มเติมข้อกำหนดให้มีการติดตั้งแบบแปลนแผนผังของอาคารแต่ละชั้นไว้ในตำแหน่งที่เห็นชัดเจน เช่น บริเวณห้องโถง หรือ หน้าลิฟต์ทุกแห่งของทุกชั้น 
  • เพิ่มเติมข้อกำหนดให้มีการติดตั้งเครื่องดับเพลิง แบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้ว (แบบมือถือ) ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรี่องการติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว
  • แก้ไขการกำหนดอัตราการทนไฟของผนัง ประตู หรืออุปกรณ์อื่นที่ทำด้วยวัสดุทนไฟ เดิมไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เป็นไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับอาคารสูง และไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง สำหรับอาคารขนาดใหญ่พิเศษซึ่งไม่ใช่อาคารสูง แก้ไขข้อกำหนดรายละเอียดของบันไดหนีไฟ เพิ่มข้อบังคับเรื่องป้ายบอกทางหนีไฟ เพิ่มเติมวัสดุที่ใช้เป็นผนังภายนอกอาคาร ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีกำหนด 

 

ทีมโฆษกรัฐบาลแถลงผลประชุมครม.

ทั้งนี้ มีการกำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อให้อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีอยู่ใน วันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ หรือที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และยังก่อสร้างหรือดัดแปลงไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ 

ปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภทรวมกันเพิ่มขึ้น รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยจึงเห็นถึงความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดด้านระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย เพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยเทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่า  

ครอบคลุมการจัดให้มีผนังหรือประตูที่ทำด้วยวัสดุทนไฟที่สามารถปิดกันไม่ให้เปลวไฟหรือควันเข้าไปสู่บันไดของอาคาร ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ทางหนีไฟและบันไดหนีไฟ ระบบสัญญาณเตือนเหตุเพลิงไหม้ ระบบการจัดแสงสว่างและการระบายอากาศและระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งขนาดและลักษณะพื้นที่ของดาดฟ้าที่ใช้เป็นทางหนีไฟทางอากาศ ด้วย 

โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุมครม. ถึงความสำคัญของความพร้อมของอาคาร โดยเฉพาะระบบการป้องกันภัย ที่ต้องมีความเหมาะสมเป็นไปตามเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม โดยย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันไปดำเนินการให้รัดกุมต่อไป