ยกเครื่อง"สมุทรสาคร"ปูพรมโครงสร้างพื้นฐานสู่เมืองอาหารโลก

13 ก.ย. 2566 | 06:06 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2566 | 06:15 น.

  ยกระดับ “สมุทรสาคร” เมืองอาหารโลก กระทรวงคมนาคม ปูพรมโครงข่ายประตูสู่ภาคใต้ เสริมถนนพระราม 2 มอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ลากส่วนต่อขยายสายสีแดงไปมหาชัย บูมอสังหาฯ-ค้าปลีก 6,500 โรงงานเฮ ขนส่งรวดเร็วขึ้น ลุยวางผังเมืองสะกัดเมืองโตไร้ทิศทาง

 

สมุทรสาคร หรือ มหาชัย หนึ่งในจังหวัด ปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร ที่มีศักยภาพและการขยายตัวของเมืองสูง ด้วยชัยภูมิเป็นเมืองชายทะเล อ่าวไทย มีแม่นํ้าท่าจีนไหลผ่ากลางจังหวัด เป็นและภาคผลิตทางการเกษตร เมืองอุตสาหกรรมแปรรูปขนาดใหญ่ มี แผนลงทุนโครงข่ายเชื่อมต่อมายังสมุทรสาคร เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับ ประตูสู่ภาคใต้ โดยใช้เส้นทาง ของถนนพระราม 2 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง-วังมะนาว เป็นถนนที่ตัดผ่าน เขตกรุงเทพฯสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ ราชบุรี

เส้นเลือดใหญ่สำคัญไปยังจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้านหรือเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯได้สะดวก จึงถูก วางยุทธศาสตร์ให้เป็น “ครัวโลก” ศูนย์กลางการผลิต ส่งออกอาหารทะเล และสินค้าแปรรูป กระจายไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงการให้ความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) สูงเป็นอันดับ7ของประเทศ

 

จากความเจริญที่แผ่ขยาย เข้ามาสู่ สมุทรสาคร มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ และความแออัดของเมืองหลวง ส่งผลให้ ปัจจุบัน มีดีเวลลอปเปอร์ เข้าไปมองหาที่ดินปักหมุดพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยจำนวนมาก

กระทุ่มแบนบูมที่อยู่อาศัย

โดยเฉพาะอำเภอกระทุ่มแบน มีการเติบโตของการพัฒนาที่อยู่อาศัยค่อนข้างสูงรองรับการขยายตัวมาจาก เขตหนองแขมและบางบอน บางขุนเทียน ของกรุงเทพฯ กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่อานิสงส์ รถไฟฟ้าทำให้ที่ดินในกทม.มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้มีการจัดทำผังเมืองรวมชุมชนเมืองกระทุ่มแบน ให้เกิดความเข้มข้นขึ้น รูปแบบเดียวกับ ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเน้นการพัฒนาบ้านแนวราบ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เกิน 2,000 ตารางเมตร ขณะเดียวกันได้มีการสนับสนุนเมืองอุตสาหกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรองรับภาคการเกษตร อาหารทะเลและการแปรรูปต่างๆ

ขณะอีกหลายบริเวณที่ผังเมืองหมดอายุและอยู่ระหว่างจัดทำที่เข้มข้นขึ้น อาทิ ผังเมืองรวมชุมชนเมืองสมุทรสาคร ที่อยู่ในความดูแลของ เทศบาลนครสมุทรสาคร ผังเมืองรวมชุมชนบ้านแพ้ว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรปลูกมะพร้าว และกล้วยไม้  ขณะ เมืองมหาชัยกำหนดเป็นโรงงาน การประมง ซึ่งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า ได้กระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่น อย่างเทศบาลเป็นผู้วางผังเมืองเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปกระทั้งรุกลํ้าพื้นที่การเกษตร

6,500 รง.เฮ ขนส่งรวดเร็วขึ้น

จากการให้ความสำคัญ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ทางการแข่งขัน นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า โครงข่ายคมนาคมจากกรุงเทพฯที่เชื่อมต่อมายังสมุทรสาครในหลายโครงการ ทั้งมอเตอร์เวย์ และรถไฟฟ้า จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดอีกมากในอนาคต

เฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ในการขนส่งสินค้าทางรถยนต์ที่จะป้อนวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานแปรรูป จะสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยสมุทรสาครถือเป็นเมืองหลวงในการแปรรูปอาหารของประเทศ และเป็น “ครัวโลก”ที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีมูลค่าผลิตภัณพ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ในปี 2565 กว่าประมาณ 550,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 7 ของประเทศ ในจำนวนนี้สัดส่วน 70% มาจากภาคอุตสาหกรรม 28% จากภาคบริการ และ 2% จากภาคเกษตร

สำหรับวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ และวัตถุดิบที่ส่งมาจากจังหวัดอื่นๆ มาเข้าโรงงานแปรรูป หรือเก็บไว้ในห้องเย็นที่สมุทรสาคร เพื่อผลิตส่งออก และจำหน่ายในประเทศ ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมขยายเข้ามายังสมุทรสาคร นอกจากปลาทูน่า และปลาชนิดต่าง ๆ เพื่อผลิตเป็นปลากระป๋อง ปลาหมึก กุ้ง หมู ไก่ และอื่น ๆ เพื่อแปรรูปส่งออกแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมหลักด้านอื่นๆ ที่สำคัญของจังหวัด เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางรถยนต์ โลหะ สิ่งพิมพ์และบรจุภัณฑ์ ที่การขนส่งวัตถุดิบ และขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือเพื่อส่งออก จะมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

หวังดันจีพีพีพุ่ง 1 ล้านล้าน

 “ปัจจุบันมีสถานประกอบการทุกประเภทในสมุทรสาครกว่า 1.2 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงงานผลิต 6,500 โรงงาน มีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งคือ นิคมฯสมุทรสาคร และนิคมฯสินสาคร มีแรงงานในระบบประกันสังคมราว 5 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าว 2.5 แสนคน สัดส่วน 90% เป็นแรงงานจากเมียนมา ทั้งนี้จีพีพีของสมุทรสาครขยายตัวปีละประมาณ 3-5% ปีที่ผ่านมามูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงสูงมากกว่านั้น หรืออาจใกล้ 1 ล้านล้านบาท แต่เนื่องจากมีหลายโรงงานของบริษัทมหาชนตั้งอยู่ในสมุทรสาคร แต่ไปรับรู้รายได้ที่ กทม.ทำให้ตัวเลขจีพีพีที่แท้จริงหายไป”

 

อสังหาฯ-ค้าปลีกบูม

 นอกจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ได้รับประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมแล้ว ภาคอสังหาริมทรัพย ์เป็นอีกภาคหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์ โดยเวลานี้หมู่บ้านจัดสรรได้ขยายตัวมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอกระทุ่มแบน ที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯที่มีหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้วหลายโครงการ ส่วนใหญ่ยังเป็นอสังหาฯแนวราบ ส่วนแนวสูงที่เป็นคอนโดมิเนียมคาดจะขยายตัวมากขึ้นในระยะต่อไปหลังโครงข่ายรถไฟฟ้าหลายสายในส่วนต่อขยายได้เร่งดำเนินการ หรือแล้วเสร็จ และเชื่อมโยงกันเป็นใยแมงมุม จะทำให้คนจากสมุทรสาครมาทำงานในกรุงเทพฯ และคนจากกรุงเทพฯที่ไปทำงานที่สมุทรสาครจะได้รับความสะดวกในการเดินทาง และช่วยลดปัญหาจราจรลงได้

 ขณะเดียวกันในภาคบริการเวลานี้ในสมุทรสาคร มีห้างค้าปลีก-ส่งรายใหญ่ไปตั้งแล้วจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นห้างเซ็นทรัล โรบินสัน บิ๊กซี โลตัส และมีร้านค้าสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ มากมาย ซึ่งการขยายโครงข่ายคมนาคมสู่สมุทรสาคร จะทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกขึ้น และจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาคบริการของจังหวัดขยายตัวมากขึ้นในอนาคต

 “ไม่ใช่เพียงโครงข่ายเชื่อมโยงทางบกที่เราอยากได้ แต่เราอยากให้มีการเชื่อมต่อกับทางรถไฟที่เป็นการขนส่งทางราง และเชื่อมต่อกับทางเรือแบบไร้รอยต่อด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันส่งออกของประเทศจากที่เวลานี้ไทยส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก ส่งออกปลากระป๋องอันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ที่สมุทรสาคร”

ลุยโครงข่ายคมนาคมบูมสมุทรสาคร

  ขณะการลงทุนโครงข่ายการเดินทาง รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 หรือM82สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กิโลเมตร(กม.)งบประมาณ 29,236 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้าง 2 ระยะ ประกอบด้วย ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน10,500 ล้านบาท

    ทั้งนี้ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย เป็นการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35(ถนนพระราม2) ขนาด 6 ช่องจราจร มีทางขึ้น-ลง 2 แห่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลงพันท้ายนรสิงห์ และ ทางขึ้น-ลงมหาชัย1ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโดยแบ่งเป็น 3 สัญญาขณะนี้มีความก้าวหน้าแผนงานสะสม 94.72% ผลงานสะสม 84.76% ช้ากว่าแผน 9.96% ณ เดือนกรกฎาคม 2566

นอกจากนี้ทั้ง 3 สัญญา อยู่ระหว่างติดตั้งพื้นทางยกระดับ ราวสะพานก่อสร้างทางขึ้น-ลง ทางยกระดับ ด่านพันท้ายนรสิงห์, ด่านมหาชัย 1 งานก่อสร้างสะพานเอกชัย ติดตั้งระบบระบายนํ้า ป้ายจราจร และติดตั้งไฟส่องสว่าง คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณภายในปี 2567

 ส่วนช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง วงเงิน 19,700 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 10 สัญญา ความก้าวหน้าแผนงานสะสม 30.32% ผลงานสะสม 31.92% เร็วกว่าแผน 1.60% ณ เดือนกรกฎาคม 2566 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568

โครงข่ายสมุทรสาคร