อัดแสนล้านลุยรถไฟฟ้า เวนคืนตัดถนน ใหม่ พลิกโฉมศาลายาบูม"นครปฐม"

04 ก.ย. 2566 | 01:56 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2566 | 02:56 น.

คมนาคม ปูพรม ระบบรางรถไฟฟ้า เวนคืนตัดถนนใหม่ พรึบแสนล้าน ดันนครปฐมบูมเมืองอยู่อาศัย -อุตสาหกรรม เกษตรชุมชน ยกระดับผังเมืองเอื้อพัฒนา พุทธมณฑลดงบ้านหรู ลากสายสีแดง เชื่อมศาลายา ปั้น TOD เมืองมหาวิทยาลัยมหิดลเชื่อมกทม.

 

นครปฐม จังหวัดปริมณฑลตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงเทพมหานคร (กทม.)เมืองเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมโบราณด้วย จุดเด่นชัยภูมิติดต่อจังหวัดใกล้เคียง รอบทิศทาง และมีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯเพียง 56 กิโลเมตรโดยมีถนนบรมราชชนนีและสะพานพระราม8 เชื่อมเข้าใจกลางเมือง

ปัจจุบัน มีความเจริญอย่างมากจากการลงทุนโครงพื้นฐานรัฐส่งผลให้เกิดการไหลบ่าของการพัฒนาที่อยู่อาศัยออกมายังฝั่งนครปฐมมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่เบื่อหน่ายความแออัดคับคั่งในเมืองหลวง ต้องการมองหาความเงียบสงบชานเมืองแต่ใช้เวลาเดินทาง เข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกรวดเร็ว

พุทธมณฑลทำเลฮอตเชื่อมกทม.

โดยเฉพาะ พื้นที่3 อำเภอ ศักยภาพด้านที่อยู่อาศัยและการลงทุน ได้แก่ 3 อำเภอ ใกล้กรุงเทพฯ ได้แก่ 1. อำเภอพุทธมฑล 2. อำเภอสามพราน 3.อำเภอนครชัยศรี โดยพุทธมณฑล มีจุดเด่นเชื่อมกับกรุงเทพฯเป็นเนื้อเดียว โดยเขตปกครองของนครปฐม เริ่มตั้งแต่พุทธมณฑลสาย4 เป็นต้นไป ที่ปัจจุบันเต็มไปด้วยหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ อาณาจักรบ้านหรูของบิ๊กแบรนด์ที่ปัจจุบันมีโครงข่ายถนนตัดใหม่ของกรุงเทพมหานคร จากพรานนก ไปยังพุทธมณฑสาย4 ถนนตัดใหม่ในพื้นที่ กรุงเทพฯ (ฝั่งธนบุรี) และจังหวัดนครปฐมโดยต่อขยายถนนพรานนกจากสามแยกไฟฉายไปบรรจบถนนพุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร

เส้นทางลัดเข้าออกเมืองที่สำคัญและมีบ้านจัดสรรเข้าจับจองพื้นที่กันมากรวมถึงการเวนคืนตัดถนนลากจากพุทธมณฑลสาย4 เชื่อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางใหญ่-กาญจนบุรี และยังมีส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงินลากต่อจากฝั่งธนบุรี ต่อจากสถานีหลักสอง กรุงเทพฯ ไปยังพทุธมณฑลสาย4 คาดว่าราคาที่ดินขยับสูงและมีการจัดจองที่ดินพัฒนาคอนโดมิเนียมกันอย่างสนุกมือ รวมถึงตำบลศาลายามีความเจริญอย่างมากมีมหาวิทยาลัยและศูนย์การค้าอย่างเซ็นทรัลมาลงในพื้นที่

 ขณะอำเภอสามพรานส่วนใหญ่เน้นเมืองเกษตกรรมแหล่งผลิตส้มโอขนาดใหญ่และ สวนกล้วยไม้ ส่งออกระดับโลก ทำให้ พื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะตำบลทรงคะนอง ติดกับแม่นํ้า ท่าจีนจึงห้ามพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรเพราะเสี่ยงนํ้าเสียที่ปล่อยมาจากบ้านจัดสรรทำให้ผลผลิตเสียหายส่วนอำเภอนครชัยศรีเป็นเมืองโรงงานสีเขียวรองรับเกษตรกรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้พื้นที่และประเทศจำนวนไม่น้อย

               รายงานข่าวจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครปฐม สะท้อนว่าพุทธมณฑล เป็นอำเภอเดียวที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯแบบไร้รอยต่อเหมือนนนทบุรี เพราะเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของบ้านจัดสรรมาจากกรุงเทพฯปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำผังเมืองรวมชุมชนอำเภอพุทธมณฑล เพื่อศักยภาพการพัฒนา รองรับเป็นเมืองอยู่อาศัยโดยใช้ FAR สัดส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเหมือนกับกรุงเทพฯ เพื่อสร้าง

ปั้น TOD รอบ “มหิดล” รับสายสีแดง

ขณะเดียวกันรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนขยาย จากตลิ่งชันมาตำบลศาลายา  อำเภอ พุทธมณฑล ปลายทางที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานี หรือTOD ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต โดยจะใช้รูปแบบเดียวกัน ที่มีสายสีแดงพาดผ่าน ซึ่งผังเมืองกำหนดให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีแดง (พ.5 ) สร้างได้10เท่าของแปลงที่ดิน มุ่งเน้นพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง

  ส่วนบริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศาลายา เป็นแม่เหล็กสร้างความเจริญเข้าพื้นที่โดยรอบแต่ผังเมืองกำหนดให้เป็น พื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) โซนที่อยู่อาศัยชั้นดีพัฒนาได้เฉพาะบ้านเดี่ยว ขณะราคาที่ดินติดถนนอยู่ในราว 15-20 ล้านบาทต่อไร่ และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากความต้องการที่ดินเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง

ปูพรมรถไฟฟ้า3สาย

 ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับความเจริญมีต่อเนื่อง มีรายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ว่า กรมฯได้ ศึกษาโครงการเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2โดยได้ดำเนินการศึกษาแนวเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้าจากการทบทวนแผน M-MAP เดิม และแผน M-MAP 2 Blueprint ซึ่งทาง JICA เคยศึกษาไว้ ร่วมกับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและประชาชนในเขตจังหวัดปริมณฑลที่รับฟังความคิดเห็นและที่ปรึกษานำเสนอเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนา

แนวเส้นทางใหม่ระบบรางที่มีความเป็นไปได้ในจังหวัดนครปฐม จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 30 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 271 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง จำนวน 8,076 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,284 ล้านบาท

ขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติโครงการฯหลังจากมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เสนอส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา คาดว่าจะเสนอต่อครม.ใหม่ เดือนตุลาคมนี้จากนั้นจะเปิดประมูลในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี พร้อมเปิดให้บริการ 2570

2.N10 รถไฟฟ้าสายศาลายา- มหาชัย และ 3.M8 รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร 21,197 ล้านบาท ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อจากสายสีนํ้าเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ

 

สายสีนํ้าเงิน ไปพุทธมณฑลสาย4

ส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 แนวเส้นทางลากต่อจากสายสีนํ้าเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีหลักสอง โดยมีลักษณะเส้นทางเป็นทางยกระดับไปตามเกาะกลางของถนนเพชรเกษม ข้ามแยกเพชรเกษม-พุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งจะมีโครงการสะพานข้ามแยกในอนาคตจากนั้นแนวเส้นทางจะลดระดับลงเพื่อลดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงบริเวณหน้าโรงไฟฟ้าบางกอกน้อย แล้วจึงยกระดับขึ้นไปยังสถานีพุทธมณฑลสาย2 (BS21) และยกระดับเพิ่มขึ้นเพื่อข้ามโครงการสะพานข้ามแยกไปยังสถานีทวีวัฒนา (BS22)

คงระดับเดิมต่อไปจนถึงสิ้นสุดโครงการผ่านสถานีพุทธมณฑลสาย 3 (BS23) ข้ามแยกเพชรเกษม-พุทธมณฑลสาย 3 และโครงการสะพานข้ามทางแยกวิ่งข้ามทางแยกมาเจริญ (ซอยเพชรเกษม 81) และโครงการสะพานข้ามแยกเข้าสู่สถานีพุทธมณฑลสาย 4 (BS24) ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของโครงการ โดยจะมีอาคารจอดแล้วจรทั้ง 2 ฝั่งของสถานี จำนวน 4 สถานี และอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง

ทางคู่นครปฐม เปิดใช้ก.ย. นี้

ส่วนความคืบหน้ารถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร 421 กิโลเมตร 3.39 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธา 5 สัญญา 96.92% ขณะนี้ได้เปิด ใช้ทางคู่ ช่วงเขาเต่า-ประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 78 กิโลเมตร (กม.) แล้ว โดย รฟท. อยู่ระหว่างพิจารณาทยอยเปิดการใช้งานเป็นช่วงๆ เริ่มจากสถานีบางเค็มถึงสถานีหนองศาลา ระยะทาง 48 กิโลเมตร (กม.) ช่วงที่หยุดรถบ้านดอนทรายถึงที่หยุดรถหนองมงคล ระยะทาง 23.77 กิโลเมตร (กม.) คาดว่าจะทยอยเปิดภายในเดือนกันยายน 2566

โดยใช้ระบบเครื่องทางสะดวกและมอบตั๋วทางสะดวก (กรฟ.3) ตามเดิมไปพลางก่อนในระหว่างที่รอติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตามสัญญา 6 ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปประมาณ 50%

ลุยถนน“สาย4-มอเตอร์เวย์ บางใหญ่”

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมถนนพุทธมณฑลสาย 4 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 6.5 กิโลเมตรรวมวงเงิน 6,125 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 4,310 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 1,815 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบความเหมาะสมของโครงการฯและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2566

“หลังจากนั้นกรมฯจะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติ ภายในปี 2567-2568”

 ขณะการเวนคืนและการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในปี 2569-2570 หลังจากนั้นจะดำเนินการหาผู้รับจ้างและเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2571-2573 คาดว่าจะเปิดใช้บริการภายในปี 2574

ส่วนแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมโยงถนนพุทธมณฑลสาย 4 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี  มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 3310 หรือ ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ที่เชื่อมต่อกับทางหลวงชนบทหมายเลข นฐ.4006 (แยกหอนาฬิกาศาลายา) จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งทิศเหนือผ่านทางรถไฟสายใต้ คลองมหาสวัสดิ์ และคลองนราภิรมย์จากนั้นแนวเส้นทางจะตัดกับทางหลวงชนบท นบ.1011 โครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา ทางหลวงชนบท นบ.5014 คลองบางใหญ่ ทางหลวงชนบท นบ.1009 และไปสิ้นสุดที่จุดบรรจบกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี โดยรูปแบบถนนเป็นทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร รวมระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร (กม.)

ขณะความคืบหน้ามอเตอร์เวย์ หมายเลข 8 หรือ M8 สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น2ช่วง ช่วงที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กิโลเมตร และ ช่วงที่ 2 ช่วงปากท่อ-ชะอำ 48 กิโลเมตร ซึ่งกรมฯจะเริ่มดำเนินการนำร่องช่วงนครปฐม-ปากท่อ วงเงิน 43,227 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธา 29,156 ล้านบาท งานระบบ 1,783 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 12,288 ล้านบาท โดย คาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและครม. ใหม่พิจารณารูปแบบการลงทุนในช่วงแรกก่อน ภายในปี 2567

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (เริ่มตั้งแต่ปี 2567-2571) หาก ครม. ใหม่เห็นชอบ จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเวนคืนที่ดินภายในปี 2568-2569 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2568 เริ่มก่อสร้างในปี 2569 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2573

สำหรับแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ (M8) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ 61 กิโลเมตร (กม.) จุดเริ่มต้นโครงการต่อเชื่อมกับ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สิ้นสุดเชื่อมต่อมายังทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

นครอินทร์-ศาลายาคืบ

 รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา จ.นนทบุรี, นครปฐม ระยะทางรวมประมาณ 12 กิโลเมตร งบประมาณค่าก่อสร้าง 4,432 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯได้ของบประมาณปี 67 ประมาณ 900 ล้านบาท เพื่อเวนคืนที่ดินในโครงการฯบางส่วน แต่งบเวนคืนที่ดินถูกตัดเหลือ 450 ล้านบาท ซึ่งต้องดูว่าจะได้รับจัดสรรปี 2567 เท่าใด คาดว่าจะต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา

แนวเส้นทางโครงการถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์-ศาลายา จ.นนทบุรี, นครปฐม มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงชนบท นฐ.5035 ที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แนวเส้นทางวางตัวไปทางทิศตะวันออก ผ่านคลอง ตาพริ้ง ผ่านทางหลวงชนบท นฐ.3004 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ข้ามคลองนราภิรมย์ ตัดผ่านทางหลวงชนบท นบ.5014 ข้ามคลองสามท้าว ตัดทางหลวงชนบท นบ.1001 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ข้ามคลองจีนบ่าย ข้ามคลองขุนเจน

โครงข่ายบูมนครปฐม