แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศสู่ศูนย์กลางเมืองอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) เสนอให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 เมษายน 2567 นี้ พิจารณาเห็นชอบ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง และเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
โดยปรับปรุงมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม และมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากขึ้น
สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ครั้งนี้ ได้ปรับปรุงมาตรการเดิม เกี่ยวกับการลดค่าจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม รวมทั้งการโอนและค่าจดจำนองให้กับอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยจะเพิ่มเป็นราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของตลาดอสังหาฯ และสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยที่เหลือขายสะสมอยู่ในตลาดที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46% ของอยู่อาศัยเหลือขายในตลาด
ส่วนอยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 86% ของอยู่อาศัยที่เหลือขายในตลาด และยังสอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ซึ่งรายงานว่าในช่วง 9 เดือนของปี 2566 ที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่ถึง 3 ล้านบาท มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คิดเป็น 41.4% ส่วนที่อยู่อาศัยมือหนึ่งที่ราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คิดเป็นสัดส่วน 61.4% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งหมดด้วย
โดยมาตรการดังกล่าวจะมีการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จากปกติ 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน จากปกติ 1% เหลือ 0.01% ครอบคลุมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้
ล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
1.ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการที่มีอยู่อาศัยของตนเอง พ.ศ.2566 พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ
2.ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายห้องชุดเพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ.2566 พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ
3.ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัย หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดจำนวน 1 ฉบับ
4.ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการซื้อขายอสังหาฯ มูลค่าประมาณ 799,374 ล้านบาทต่อปี ช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศได้กว่า 118,413 ล้านบาทต่อปี หรือ 9,868 ล้านบาทต่อเดือน และเพิ่มการลงทุนได้ประมาณ 464,971 ล้านบาทต่อปี หรือ 38,748 ล้านบาทต่อเดือน และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)เพิ่มขึ้น 1.58% ต่อปี
ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสูญเสียรายได้จากค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากปัจจุบันประมาณ 5,299 ล้านบาทต่อปี หรือ 442 ล้านบาทต่อเดือน เป็นจำนวนประมาณ 23,822 ล้านบาทต่อปี หรือ 1,985 ล้านบาทต่อเดือน
นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างบ้าน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลธรรมดาที่มีการสร้างบ้าน แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าก่อสร้างบ้าน เมื่อได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านกับผู้รับเหมาทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และต้องเริ่มก่อสร้างบ้านในหรือหลังวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568
โดยมูลค่าการหักลดหย่อนให้เป็นไปตามมูลค่าการก่อสร้างบ้าน 1 ล้านบาท จะหักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านที่เสียอากรแสตมป์ด้วยวิธีการชำระอากรเป็นเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกับกรมสรรพากร คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 5,000 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี