ชง ครม.เคาะ สิทธิประโยชน์อีอีซี ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี

16 พ.ค. 2567 | 07:15 น.
อัพเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 07:35 น.

“จุฬา” เสนอ ครม.อนุมัติ ประกาศ กพอ. ให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนในพื้นที่อีอีซี 21 พ.ค. นี้ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี ให้สิทธิเช่าที่ดินระยะยาว 50 ปี +49 ปี เผย 30 นักลงทุนทั่วโลกจ่อขนเงิน 2 แสนล้านลงทุนไทย

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ประกาศ กพอ.) เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.อีอีซี อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของครม.วันที่ 21 พฤษภาคมนี้ เพื่อรับทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคม

จากนั้นจะเป็นกระบวนการตั้งคณะกรรมการเจรจาฯกับเอกชนแต่ละราย เพื่อเริ่มให้สิทธิประโยชน์อีอีซีแบบวันสต็อปเซอร์วิส ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ขณะนี้มีนักลงทุนจากทั่วโลกสนใจประมาณ 30 ราย จำนวน 34 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการบีซีจี อิเล็กทรอนิกส์

 

สำหรับ สิทธิประโยชน์อีอีซี อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ห้องชุด สิทธิในการประกอบวิชาชีพ สิทธิในการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ระยะยาว 50 ปี +49 ปี สิทธิในการประกอบวิชาชีพ สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักรและสิทธิในการได้รับเวิร์คเพอร์มิท สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินตราต่างประเทศ สิทธิในการขอรับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าชายแดน หรือเขตการค้าเสรี

อย่างไรก็ตามในการเจรจา นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์แค่ไหน จะถึง 15 ปีหรือไม่ ขึ้นกับการเจรจา จากองค์ประกอบต่างๆ อาทิ มูลค่าลงทุนจริง แผนการลงทุนเข้าเกณฑ์หรือไม่ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมฯภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี ความสำคัญของกิจการต่อห่วงโซ่อุปทาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจแค่ไหนอย่างไร

 

ขณะเดียวกันจะต้องดูในเรื่อง การเป็นผู้บุกเบิกกิจการในอุตสาหกรรมไทย การใช้ทรัพยากรและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ระดับเทคโนโลยีที่ใช้ในกิจการ แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การลงทุนวิจัยและพัฒนา การจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง ความยั่งยืนของกิจการ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาและสนับสนุนชุมชน 3 จังหวัดอีอีซีด้วย

"ตลอด 1 ปีที่เข้าทำงาน ทราบอุปสรรคสำคัญของอีอีซีคือ มีกฎหมายในมือแต่ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ เหมือนมีปืนแต่ไม่มีกระสุน จึงเดินหน้าหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้อีอีซีสามารถออก 44 ใบอนุญาตจากกฎหมาย 13 ฉบับ เดินหน้าอีอีซีวีซ่าโดยครม.มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้จึงเหลือเพียงสิทธิประโยชน์อีอีซีที่รอเสนอครม. หากทุกเครื่องมือพร้อมจะดึงการลงทุนได้ทันที คาดว่าเดือนมิถุนายนจะปิดดีลกับนักลงทุนทั้ง 30 รายได้ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น ที่แสดงความสนใจมากที่สุด"นายจุฬากล่าว