กทท. MOU ซีเอชอีซี เดินหน้า ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ส่วน 2 มั่นใจเปิดบริการปี 70

31 ก.ค. 2567 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2567 | 11:50 น.

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 กับบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 โดยมีนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานสักขีพยาน มุ่งเป้าเปิดให้บริการในปี 2570

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางทะเลของประเทศไทยกำลังก้าวสู่อีกขั้นสำคัญ ด้วยการเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย พร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ในครั้งนี้ ถือเป็นความคืบหน้าในการผลักดันท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นประตูการค้าสู่การลงทุนในภูมิภาคเอเชีย

มนพร เจริญศรี

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ กทท. กำกับดูแลการดำเนินงานให้สำเร็จตามกรอบเวลา เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้า GPC ในเดือนพฤศจิกายน และเปิดให้บริการท่าเรือ F ภายในสิ้นปี 2570 เมื่อแล้วเสร็จจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านทีอียูต่อปี รวมเป็น 15 ล้านทีอียูต่อปี

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ไปจนถึงโครงข่ายและระบบการขนส่งที่ต่อเนื่อง พร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางเรือ การขนส่งสินค้าทางรถไฟ และสินค้าประเภทต่างๆ

การดำเนินงานประกอบด้วยงานก่อสร้างหลักที่สำคัญ ได้แก่ ระบบการขนส่งของท่าเรือ งานก่อสร้างประกอบด้วยระบบถนน อาคาร ระบบสาธารณูปโภค ท่าเทียบเรือชายฝั่ง และท่าเทียบเรือบริการ มีการวางระบบเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เพื่อรองรับการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณหลังท่าเทียบเรือ

ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่สำคัญที่จะทำให้การขนส่งตู้สินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนมาสู่ทางรางและทางน้ำ 

รวมทั้ง ได้สนับสนุนการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีท่าเรือสมัยใหม่ที่มีศักยภาพสูงตลอดจนการเป็นท่าเรือที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบยกตู้สินค้าอัตโนมัติในลานกองตู้สินค้า ยานพาหนะแบบไร้คนขับ (Automated Guided Vehicle : AGV) ระบบการตรวจสอบและอ่านหมายเลขตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Optical Character Recognition : OCR) เพื่อสแกนข้อมูลบนตู้สินค้าโดยอัตโนมัติ ลดความผิดพลาดในการนำส่งข้อมูล

นายเกรียงไกร ยังกล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาทำเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีการแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ดำเนินงานโดยกิจการร่วมค้า CNNC ซึ่งขณะนี้งานถมทะเลในภาพรวมมีความคืบหน้า 36% ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ที่ได้มีการลงนามในวันนี้ 

สำหรับ ส่วนที่ 3 เป็นงานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยงานส่วนที่ 3 และ 4 อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง TOR คาดว่าจะสามารถประกาศประมูลราคาได้ภายในต้นปี 2568

นาย Jiang Houliang กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาค บริษัท China Harbour Engineering Company กล่าวว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในงานก่อสร้างท่าเรือทั่วโลก รวมถึงโครงสร้าง พื้นฐานต่างๆ ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จึงมั่นใจว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานและเสร็จกรอบระยะเวลาตามที่สัญญากำหนดไว้อย่างแน่นอน

ด้านนาย Wang Haiguang กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทครบรอบ 30 ปีในปีนี้ และเคยก่อสร้างท่าเทียบเรือให้บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือในประเทศไทยที่มีความทันสมัย จึงรู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมในการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ที่สำคัญของประเทศไทยอีกครั้ง

เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข มนพร เจริญศรี และ Wang Haiguang

โดยพิธีลงนามในครั้งนี้ ยังประกอบด้วยคณะผู้บริหาร ได้แก่ นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร หัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์โครงการข้อตกลงคุณธรรมงานจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง คณะผู้แทนคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คณะกรรมการ กทท. ผู้บริหาร กทท. และผู้บริหารบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยานด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด จะต้องดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายใน 1,260 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งให้เริ่มงานจาก กทท. ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค