นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินงานในส่วนที่ภาครัฐต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน งานถมทะเล และระบบสาธารณูปโภค โดยงานส่วน 1 การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล กิจการร่วมค้า CNNC เอกชนคู่สัญญาอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ
ทั้งนี้คาดว่ากิจการร่วมค้า CNNC จะส่งมอบพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) ได้ทันเป้าหมายภายในเดือนมิ.ย.นี้ หลังจากนั้น กทท.จะตรวจสอบมาตรฐานความแน่นหนาของงานถมทะเล ก่อนเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้กับ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC คู่สัญญาในโครงการบริหารท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งจะทยอยส่งมอบส่วนของท่าเรือโซน F1 ภายในเดือน พ.ย.2568 และกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2569
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ด้านงานส่วน 2 โครงสร้างพื้นฐาน งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ก่อนหน้านี้ กทท.ได้เปิดประกวดราคา โดยมีราคากลาง 7,387.518 ล้านบาท พบว่ามีเอกชนซื้อซอง 4 ราย และผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติ 2 ราย คือ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
“จากการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค และด้านราคา ผลปรากฏว่า บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยต่ำกว่าราคากลางราวิ 160 ล้านบาท กทท.จึงประกาศให้เป็นผู้ชนะการประมูล แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาจ้างได้ เนื่องจากมีการยื่นอุทธรณ์ผลการประมูล ส่งผลให้อยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการตรวจสอบ”
นอกจากนี้กทท.เตรียมประกวดราคางานลงทุนภาครัฐอีก 2 ส่วน วงเงินรวมกว่า 3พันล้านบาท แบ่งเป็น ส่วน 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ งบประมาณ 799.5 ล้านบาท และส่วน 4 งานจัดหา ประกอบและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ 2,257.84 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเร่งรัดเปิดประกวดราคาได้ภายในปีนี้
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี
หากโครงการฯแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ช่วยสนับสนุนการลดต้นทุน การขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ 250,000 ล้านบาท อีกทั้งยังผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค