“ดร.สามารถ”ชี้ปมปริศนาจ่อ“ขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช”ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน

03 ส.ค. 2567 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2567 | 08:46 น.

“ดร.สามารถ”ชี้ปมปริศนาจ่อ“ขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช” ให้เอกชนออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน หรือจากเดิม 11 ปีต้องตกเป็นของรัฐ ยืดไปอีก 34 ปี จนป.ป.ช.หวั่นรัฐจะเสียผลประโยชน์ แนะทางออกโดยไม่ต้องขยายสัมปทาน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ปมปริศนาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช” ระบุว่า

มีข่าวว่ารัฐเตรียมขยายเวลาให้เอกชนผู้รับสัมปทานทางด่วนศรีรัชออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ทำให้เวลาสิ้นสุดสัมปทานถูกเลื่อนจากปี 2578 เป็นปี 2601 หรือจากเดิมที่ต้องรอให้สิทธิ์การบริหารทางด่วนกลับมาเป็นของรัฐอีก 11 ปี เป็นต้องรออีก 34 ปี 

 

โอกาสที่จะใช้ทางด่วนราคาถูกมากๆ จะถูกทอดยาวออกไปอีกนานแสนนาน เป็นผลให้ ป.ป.ช.หวั่นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงสั่งให้ กทพ.แจงข้อสงสัยภายใน 7 ส.ค.นี้ บทความนี้มีทางออก

โดยไม่ต้องขยายสัมปทาน!รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ปมปริศนาขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช” ระบุว่า

 

มีข่าวว่ารัฐเตรียมขยายเวลาให้เอกชนผู้รับสัมปทานทางด่วนศรีรัชออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ทำให้เวลาสิ้นสุดสัมปทานถูกเลื่อนจากปี 2578 เป็นปี 2601 หรือจากเดิมที่ต้องรอให้สิทธิ์การบริหารทางด่วนกลับมาเป็นของรัฐอีก 11 ปี เป็นต้องรออีก 34 ปี 

โอกาสที่จะใช้ทางด่วนราคาถูกมากๆ จะถูกทอดยาวออกไปอีกนานแสนนาน เป็นผลให้ ป.ป.ช.หวั่นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงสั่งให้ กทพ.แจงข้อสงสัยภายใน 7 ส.ค.นี้ บทความนี้มีทางออกโดยไม่ต้องขยายสัมปทาน!

1.ย้อนไทม์ไลน์สัมปทานทางด่วนศรีรัช

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ให้สัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นระยะเวลา 30 ปี จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

ต่อมามีการขยายสัมปทานออกไป 15 ปี 8 เดือน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578 เพื่อแลกกับข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM
มาถึงวันนี้ มีข่าวว่าจะขยายสัมปทานอีก 22 ปี 5 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 และให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงเดียวกัน

อนึ่ง การขยายสัมปทานครั้งนี้ รัฐจะขยายสัมปทานทางด่วนอุดรรัถยา (ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด) ให้เอกชนด้วย 

2. ลดค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9

รัฐต้องการลดค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ที่ปัจจุบันสำหรับรถ 4 ล้อ มีอัตราสูงสุด 90 บาท จะปรับลดลงเหลือสูงสุด 50 บาท ในขณะเดียวกันรัฐบอกว่าทางด่วนช่วงดังกล่าวมีปริมาณรถมาก ทำให้รถติดบนทางด่วน จึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้าง Double Deck ช่วงดังกล่าว 

ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สิทธิ์การบริหารทางด่วน กลับมาเป็นของรัฐ อัตราค่าผ่านทางจะถูกลงมาก 

แต่การลดค่าผ่านทางเฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ในเวลานี้จะทำให้ปริมาณรถบนทางด่วนเพิ่มขึ้น รถติดบนทางด่วนช่วงดังกล่าวก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ การลดค่าผ่านเฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร อาจทำให้รัฐถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นการเร่งให้จำเป็นต้องก่อสร้าง Double Deck หรือไม่ ? 

ดังนั้น รัฐควรเร่งรัดให้เวลาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว เพื่อที่จะสามารถลดค่าผ่านทางด่วนทุกเส้นทาง ซึ่งมีระยะทางรวมทั้งหมด 224.6 กิโลเมตร ให้ถูกลงมากได้ ดีกว่าลดค่าผ่านทางเพียงแค่ระยะทาง 17 กิโลเมตรเท่านั้น

อนึ่ง โดยทั่วไปค่าผ่านทางกรณีรัฐให้สัมปทานแก่เอกชน จะมีราคาแพงกว่ากรณีไม่ให้สัมปทาน ขอยกตัวอย่างค่าผ่านทางด่วนศรีรัช ส่วน B (ทางแยกต่างระดับพญาไท-บางโคล่) ซึ่งรัฐให้สัมปทานแก่เอกชนมีค่าผ่านทางสูงสุด/กิโลเมตร เท่ากับ 5.32 บาท 

ในขณะที่ค่าผ่านทางด่วนฉลองรัช (อาจณรงค์-รามอินทรา-วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก) ซึ่งรัฐลงทุนก่อสร้างและเก็บค่าผ่านทางเอง ไม่ได้ให้สัมปทานแก่เอกชน มีค่าผ่านทางสูงสุด/กิโลเมตร เท่ากับ 1.60 บาท จะเห็นได้ว่าค่าผ่านทางสูงสุด/กิโลเมตร กรณีรัฐให้สัมปทานแก่เอกชนแพงกว่ากรณีไม่ให้สัมปทานถึง 232.5%

3. Double Deck แก้รถติดบนทางด่วนได้จริงหรือ? 

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า Double Deck จะช่วยแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้จริงหรือ? เนื่องจากรถทั้งหลายที่ใช้ทางด่วนจะต้องวิ่งบนถนนระดับพื้นดิน ซึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนมีรถติดอย่างหนัก กว่าจะขึ้นหรือลงทางด่วนได้ต้องใช้เวลานาน 

ดังนั้น การลงทุนก่อสร้าง Double Deck มูลค่า 34,800 ล้านบาท จะทำให้กระแสจราจรบนทางด่วนไหลลื่นได้จริงหรือ? และจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่? 

อีกทั้ง บนทางด่วนมีรถติดหลายแห่ง ไม่เฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เท่านั้น จะทำให้ต้องก่อสร้าง Double Deck อีกหลายสาย และจะต้องเป็นเหตุให้ขยายสัมปทานอีกหลายครั้งอย่างนั้นหรือ?

4. ตัวแปรการคำนวณหาระยะเวลาขยายสัมปทานให้เอกชน 22 ปี 5 เดือน

ในการคำนวณหาระยะเวลาขยายสัมปทานให้เอกชน 22 ปี 5 เดือน มีตัวแปรที่มีผลต่อการคำนวณดังนี้

(1) ค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินงานและซ่อมบำรุงรักษา Double Deck หากประเมินไว้สูงจะทำให้ระยะเวลาการขยายสัมปทานนานขึ้น

(2) ปริมาณรถและรายได้จากการก่อสร้าง Double Deck หากประเมินไว้ต่ำจะทำให้ระยะเวลาการขยายสัมปทานนานขึ้น

(3) ผลตอบแทนการลงทุน รัฐกำหนดให้เอกชนผู้รับสัมปทานได้รับผลตอบแทนการลงทุนถึง 9.75% ซึ่งถือว่าสูง ทำให้ต้องขยายเวลาสัมปทานนานถึง 22 ปี 5 เดือน

จะเห็นได้ว่า ตัวแปรดังกล่าวมีผลต่อการคำนวณระยะเวลาขยายสัมปทาน ดังนั้น รัฐจะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ แม้ว่ารัฐจะมีบริษัทที่ปรึกษาช่วยคำนวณให้ก็ตาม หากบริษัทฯ ทำงานอย่างตรงไปตรงมาก็ไม่น่าห่วง แต่หากบริษัทฯ ไม่รักษาจรรยาบรรณ รัฐก็จะเสียผลประโยชน์

5. ป.ป.ช.หวั่นรัฐจะเสียผลประโยชน์

การเตรียมขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชน ทำให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หวั่นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีข้อความตอนหนึ่งว่า  

“สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่า เงื่อนไขในสัญญาบางประการตามที่สื่อมวลชนได้รายงานมีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา” จึงขอให้ กทพ.ชี้แจงข้อเท็จจริงภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2567

6. ข้อเสนอแนะ

เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม ผมขอเสนอแนะให้เลื่อนการก่อสร้าง Double Deck ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ออกไปก่อน ดังที่เคยเลื่อนมาแล้วในอดีต แล้วจึงค่อยพิจารณาก่อสร้างเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2578

การทำเช่นนี้ทำให้ไม่ต้องขยายสัมปทานให้เอกชน สิทธิ์การบริหารและเก็บค่าผ่านทางจะกลับมาเป็นของ กทพ.ในปี 2578 ถึงเวลานั้น กทพ.ก็จะสามารถลดค่าผ่านทางด่วนให้ถูกลงมากได้ ผู้ใช้ทางด่วนก็จะได้ยิ้มกว้างกัน