ย้อนไทม์ไลน์ "หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว" กว่า 3.9 หมื่นล้าน ที่กทม. ต้องแบก

05 ส.ค. 2567 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 10:14 น.

เปิดไทม์ไลน์การฟ้องร้อง 3 ปีของ "หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว" สู่ภาระหนี้ 3.9 หมื่นล้านบาท ที่กทม. ต้องแบกรับ กับผลกระทบของปัญหาที่ทวีคูณขึ้นตามกาลเวลา

มหากาพย์การฟ้องร้องปมหนี้ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ยุติลง เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมชำระหนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC นับเป็นคดีที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลา 3  ปี ด้วยยอดหนี้พุ่งสูงกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท สะท้อนถึงปัญหาการบริหารจัดการโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร

รวมถึงความขัดแย้งเรื่องค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกทม. KT และ BTSC ผู้ให้บริการและรับจ้างเดินรถมาอย่างยาวนาน

จุดเริ่มต้นชนวนปัญหาภาระหนี้สิน 

เกิดจากการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยาย 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง, สะพานตากสิน-บางหว้า และจุดที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-คูคต โดยมี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบงานก่อสร้าง

โดยในส่วนต่อขยายจุดที่ 2 ได้มีการพัฒนาเข้าไปในเขตจังหวัดปริมณฑล 2 จังหวัด คือ สมุทรปราการ และปทุมธานี ทำให้กทม. ไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่ได้

ต่อมา ได้มีมติให้กทม. เป็นผู้เดินรถ เพื่อความต่อเนื่อง และความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ ตามนโยบายของรัฐบาลคสช. ในขณะนั้น 

เมื่อปี 2560 ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เริ่มเปิดให้บริการ โดย กทม. ได้ให้ KT เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ และ KT ได้จ้าง BTS ในการติดตั้งงานระบบและเป็นผู้เดินรถต่ออีกทอดหนึ่ง เป็นจุดเริ่มของปัญหาหนี้สินสะสมที่ต้องมีการสะสางในปัจจุบัน

ก่อนที่จะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นในปี 2564 BTS ได้มีการทวงชำระหนี้อยู่หลายต่อหลายครั้ง ทั้งเข้ายื่นหนังสือให้กับ KT และ กทม. รวมถึงส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้โดยสาร

  • เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

BTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เรียกร้องให้ กทม. และกรุงเทพธนาคม (KT) ชำระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 รวมมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท

  • วันที่ 7 กันยายน 2565

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กทม. และ KT ร่วมกันชำระหนี้ให้ BTS ตามคำฟ้อง เป็นเงินทั้งสิ้น 11,755 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท

  • ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2565

กทม. และ KT ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดใน 

  • วันที่ 17 สิงหาคม 2566

ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาครั้งแรก โดยยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้ กทม. และ KT ชำระหนี้

  • ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567

ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทม. และกรุงเทพธนาคมร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุง

ไทม์ไลน์การฟ้องร้อง หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งปัจจุบันยอดหนี้รวมดอกเบี้ยได้พุ่งสูงถึง 39,402  ล้านบาท และถ้าหากยังไม่มีการชำระ ดอกเบี้ยจะสะสมอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละประมาณ 7 ล้านบาท

กทม. ยอมรับคำสั่งศาลเรื่องหนี้บีทีเอส เตรียมเร่งหาข้อสรุปร่วมกับ KT ย้ำจะใช้งบฯ ให้คุ้มค่ามากที่สุด

ประเด็นการชำระหนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ยอมรับคำสั่งศาล โดยจะเร่งการประชุมใหญ่เพื่อหาข้อสรุประหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) และกรุงเทพมหานคร และวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลโดยละเอียด ซึ่งมีบางจุดที่เป็นประเด็นจากศาลต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาและหาแนวทางในการปฏิบัติ

พร้อมทั้งชี้แจงว่า ในส่วนความผิดคือการหยุดชำระหนี้ จากส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ในช่วงประมาณปี 2564 มีการนำหนี้มารวมเพื่อนำไปต่อสัญญาตาม ม.44 จึงทำให้เกิดการหยุดชำระเงิน ต่อมา ม.44 ไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี กรุงเทพมหานครจึงรอคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี

ในช่วงแรกบีทีเอสยอมรับการไม่จ่ายเงิน แต่เมื่อปี 2564 ทางบีทีเอสได้ฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยจากศาลฯ ระบุว่ากรุงเทพมหานครไม่ต้องรอคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี โดยให้จ่ายตามภาระที่มีอยู่รวมถึงระบุดอกเบี้ยมาด้วย 

ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีภาระและความกดดันเพิ่มมากขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการเดินรถส่วนต่อขยาย 1 จำนวน 2,000 ล้านบาท ส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 6,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท แต่ค่าโดยสารที่เก็บได้ เป็นจำนวน 2,000 ล้านบาท ทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณมาจ่ายส่วนต่างในการเดินรถ จำนวน 6,000 ล้านบาท 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

สำหรับงบประมาณที่กรุงเทพมหานครได้รับปีละ 90,000 ล้านบาท เมื่อต้องหักไปจ่ายหนี้ 6,000 ล้านบาท รวมทั้งมูลหนี้ที่รวมแล้วเกือบ 40,000 ล้านบาท ก็จะเป็นภาระของชาว กทม. ไปโดยปริยาย 

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 140 วัน และจะพยายามให้การดำเนินการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 180 วัน ตามคำสั่งศาล

โดยกรุงเทพมหานครจะพยายามใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด เพราะเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของประชาชน และจะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวว่าจะมีวิธีใดที่จะช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ได้

การต่อ พ.ร.บ. ร่วมทุนที่จะหมดในปี 2572 จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เน้นย้ำว่าทางกรุงเทพมหานครเองจะต้องพิจารณาคำสั่งศาลให้ถี่ถ้วน เพราะข้อมูลบางตัวอาจจะไม่เป็นปัจจุบัน

การตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้นับเป็นบทพิสูจน์สำคัญ ของการชำระหนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ตกเป็นประเด็นถกเถียงมาอย่างยาวนาน 

มากไปกว่านั้น ได้ส่งผลกระทบต่องบประมาณของกรุงเทพมหานครอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่า กทม. จะจัดการกับภาระหนี้สินก้อนใหญ่นี้อย่างไร และจะส่งผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าหรือไม่ต่อไป

ที่มา กรุงเทพมหานคร