ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัญหาสต๊อกที่อยู่อาศัยล้นตลาดผู้ประกอบการรวมถึงผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการภาครัฐและแนวโน้มตลาดในครึ่งปีหลัง โดยมองว่ารัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นตลาดและคาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคอสังหา ริมทรัพย์ในระยะต่อไป
นายวิชัย วิรัตน์กพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการแก้ปัญหาสต๊อกที่อยู่อาศัยล้น รัฐบาลได้ออกมาตรการมาค่อนข้างมาก แต่ยังมีมาตรการบางส่วนที่ยังไม่ได้ออกมา เช่น การขยายสัดส่วนกรรมสิทธิ์ซื้อห้องชุดของชาวต่างชาติ หรือขยายระยะเวลาการเช่า
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้กล่าวถึงมาตรการต่างๆ ที่จะมากระตุ้นกำลังซื้อในอนาคต แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคอสังหาริมทรัพย์ และพยายามผลักดันให้เป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ
นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ติดตามข่าวมาตรการแก้ปัญหาสต๊อกที่อยู่อาศัยล้นอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการที่ผ่านมา เช่น การลดภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ได้ช่วยกระตุ้นตลาดพอสมควร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลยังคงพิจารณามาตรการเพิ่มเติม
โดยเฉพาะในเรื่องของดอกเบี้ยมาตรการทางภาษี และการปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้น้อย ในช่วงระดับราคาประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูง
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงท้ายปี นายอุทัย กล่าวว่า ในไตรมาสสองเศรษฐกิจค่อนข้างทรุดตัวลง แต่หวังว่าเงินที่รัฐบาลนำมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย รวมถึงมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจนำมาใช้ในไตรมาสสุดท้ายจะช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
นายอนวัช ฉัตรสิริกุล ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเอ็นริช ยอมรับว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงครึ่งปีหลังมีความท้าทายค่อนข้างมาก แต่ในแต่ละเซกเม้นท์ยังมีช่องว่างให้เข้าไปทำตลาดได้ โดยมองว่าแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น และเชื่อว่าภาครัฐจะออกนโยบายเพื่อกระตุ้นและช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมในอนาคต
ด้านนางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนชาวต่างชาติที่ย้ายเข้ามาในไทย (Expat) เริ่มกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด ส่วนใหญ่เข้าสู่ตลาดเช่า โดยราคาเช่าปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 800-1,300 บาทต่อตารางเมตร
โดยเฉพาะบ้านหรือคอนโดมิเนียมระดับบนได้รับความนิยมมาก เพราะส่วนมากคอนโดมิเนียมจะอยู่ในทำเลทอง ที่มีร้านอาหาร หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ ชาวต่างชาติที่ย้ายเข้ามาอาศัยในไทย (Expat) ได้ค่อนข้างดี ทำให้ราคาในบางทำเลอาจสูงถึง 1,500 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า
สำหรับตลาดบ้านหรูในเซกเม้นท์ลักชัวรีขึ้นไป ในช่วงระดับราคาตั้งแต่ 15-30 ล้านบาท มีอัตราการดูดซับที่ดีกว่า 10% และก่อนหน้านี้มีช่วงหนึ่งที่ตลาดบ้านหรูเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่บ้านหรูในราคา 30 ล้านบาทขึ้นไปมีแค่เพียงคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถซื้อได้
ซีบีอาร์อี จึงมองภาพรวมในตลาดว่า บ้านในระดับราคา 15-30 ล้านบาทเป็นอะไรที่ยังตอบโจทย์ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคต้องการไลฟ์สไตล์ที่พรีเมียมมากขึ้น ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี และระดับราคานี้ยังเป็นที่จับต้องได้มากกว่าระดับราคา 30 ล้านบาทขึ้นไป ประกอบกับอยู่ในช่วงราคาที่อัตราการปฏิเสธสินเชื่อไม่ได้สูง จึงมองว่ายังเป็นตลาดที่ยังไปต่อได้
และยังมีอัตราการดูดซับตลาดบ้านหรูในเซกเม้นท์ลักชัวรีขึ้นไป ในช่วงราคา 15-30 ล้านบาท มีอัตราการดูดซับที่ดีกว่า 10% ซึ่งถือว่าดี
นางสาวอาทิตยายังเสริมว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในทุกเซกเม้นท์อาจชะลอตัว แต่ตลาดระดับลักชัวรีขึ้นไปยังไปได้ดี เนื่องจากซัพพลายยังน้อย มีการเปิดตัวโครงการต่อปีค่อนข้างน้อย และกลุ่มลูกค้ายังมีกำลังซื้อสูง จึงมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่น้อย
สำหรับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์บ้านและคอนโดมิเนียมยังน่าสนใจ หากเลือกสินค้าที่ถูกต้องและยังมีตลาดรองรับการปล่อยเช่า จึงมองว่ายังมีศักยภาพในการเติบโต
ทั้งนี้ แม้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเผชิญความท้าทาย แต่ผู้ประกอบการยังมองเห็นโอกาสในบางเซกเม้นท์ โดยเฉพาะตลาดระดับบนและลักชัวรีที่ยังมีกำลังซื้อ รวมถึงตลาดให้เช่าที่ได้รับแรงหนุนจากการกลับมาของชาวต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายยังคงจับตามองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูตลาดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง