สิงห์ เอสเตท รุกเดินหน้าทั้งตลาดบ้าน-โรงแรม ดันรายได้ครึ่งปีโต 14%

18 ส.ค. 2567 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2567 | 10:44 น.

สิงห์ เอสเตท โชว์ศักยภาพการเติบโต รายได้ครึ่งปีแรกพุ่ง 14% เผยแผนรุกหนักตลาดบ้าน-โรงแรม ตั้งเป้าสร้างรายได้ปี 67 ทะลุ 18,000 ล้านบาท

บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ ประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2567 โดยมีรายได้รวมจากการขายและการบริการจำนวน 7,798 ล้านบาท เติบโตขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พร้อมพลิกกำไรสุทธิ 24 ล้านบาท จากการขาดทุน 76 ล้านบาทในปีก่อนหน้า 

ความสำเร็จครั้งนี้มาจากการฟื้นตัวของธุรกิจในทุกกลุ่ม ทั้งบ้านและโรงแรม สะท้อนความเชื่อมั่นของลูกค้าและการตอบรับที่ดีจากการรุกตลาดใหม่ที่ประสบผลสำเร็จ

โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ทำยอดขายได้ถึง 1,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่โดดเด่นในโครงการสำคัญ เช่น โครงการสริน ราชพฤกษ์ สาย 1 และ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ

ธุรกิจโรงแรมของสิงห์ เอสเตท ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโต โดยทำรายได้ 5,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า จากความต้องการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ โรงแรมในพอร์ตโฟลิโอได้รับการตอบรับที่ดีต่อห้องพักรูปแบบใหม่ ส่งผลให้อัตราค่าห้องพัก (ADR) เติบโตถึง 18% จากปีก่อน

คุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีความพึงพอใจกับการเติบโตของรายได้และกำไรในครึ่งปีแรกนี้ แม้จะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและปัจจัยฤดูกาล สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพ ความแข็งแกร่ง และกระจายตัวที่ดีของพอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯ

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์

รวมถึงกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดศักยภาพที่มีความแข็งแกร่งด้านกำลังซื้อ

ควบคู่ไปกับการยกระดับผลิตภัณฑ์และรังสรรค์บริการที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในระดับกลาง-บน ซึ่งส่งผลให้สามารถบรรลุกลยุทธ์การตั้งราคาที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงพีคของการดำเนินงานแล้ว และทุกพอร์ตโฟลิโอได้ทำงานเต็มที่ จึงมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถผลักดันผลประกอบการให้เติบโตอย่างโดดเด่น

ด้านธุรกิจโรงแรมของสิงห์ เอสเตทประสบความสำเร็จในครึ่งปีแรกจากการยกระดับอัตราค่าห้องพัก โดยเฉพาะการปรับปรุงห้องพักให้ตอบสนองเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ส่งผลให้โรงแรมบางแห่งสามารถเพิ่มอัตราค่าห้องพัก (ADR) ได้ถึง 40%

บริษัทใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก การกำหนดราคาแบบ Dynamic Pricing และการทำตลาดกับนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวหลายประเทศ ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) ของโรงแรมในมัลดีฟส์และไทยเพิ่มขึ้น 12% และ 17% ตามลำดับ

ปัจจัยดังกล่าวหนุนศักยภาพในการสร้างรายได้และ EBITDA ที่เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อน แม้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวทั้งจากการปิดปรับปรุงห้องพักจำนวน 173 ห้องของโรงแรมทราย ลากูน่า ภูเก็ต รวมถึงแรงกดดันจากผลการดำเนินงานในช่วงต้นของการเปิดให้บริการโรงแรม SO/ Maldives

ทั้งนี้ หากพิจารณาโดยไม่คำนวณรวมสองปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ผลการดำเนินงานของโรงแรมอื่นๆ ในพอร์ตโฟลิโอสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนั้นแล้ว บริษัทฯ เห็นสัญญาณเชิงบวกต่อยอดจองห้องพักในช่วง 3 - 6 เดือนข้างหน้าที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะเป็นแรงหนุนสำคัญให้ธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ ผ่าน SHR สามารถบรรลุเป้าหมายผลการดำเนินงานที่วางไว้ได้ในปี 2567

บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์การปรับปรุงพอร์ตโฟลิโอโรงแรม โดยการลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Ascott เพื่อยกระดับโรงแรมในสหราชอาณาจักร และการปรับปรุงห้องพักใหม่ของโรงแรมในพอร์ตโฟลิโออื่นๆ

สำหรับธุรกิจที่พักอาศัยของ สิงห์ เอสเตท มีการเติบโต 49% จากโครงการใหม่ โดยเฉพาะ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ ที่เริ่มโอนกรรมสิทธิ์เมื่อเดือนมีนาคม สร้างรายได้ 800 ล้านบาทในครึ่งปีแรก คิดเป็น 21% ของมูลค่าโครงการ 

โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งในด้านคุณภาพและบริการ ส่วนโครงการสริน ราชพฤกษ์ สาย 1 ก็ได้รับความนิยม และจะมีการเปิดโครงการใหม่บนถนนพรานนกตัดใหม่ มูลค่า 4,200 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวปลายปี 2567

บริษัทคาดการณ์ว่าอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว และมั่นใจว่าจะรักษาสถานะ "Mastery of Luxury"

พร้อมประกาศความสำเร็จในการปิดโครงการสำคัญหลายแห่งอย่าง สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส, ศิรนินทร์ เรสซิเดนเซส พัฒนาการ และ คอนโดมิเนียม ดิ เอส สุขุมวิท 36 ได้ภายในปี 2567

สำหรับธุรกิจอาคารสำนักงาน ได้แก่ S-OASIS, S-METRO, SUNTOWERS และ SINGHA COMPLEX ที่เดินหน้าผลประกอบการที่มีความมั่นคง และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี พร้อมช่วยยกระดับสุขภาพคนเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารสำนักงาน S-OASIS ซึ่งโดดเด่นในด้านความเป็น Sustainable office และได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED Gold Version 4 และมีการทยอยเข้าใช้พื้นที่จากผู้เช่าหลักอย่างต่อเนื่อง 

และเมื่อผนวกรวมกับกลยุทธ์การตลาดเฉพาะเจาะจงของสิงห์ เอสเตท จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายพื้นที่ในระยะถัดไปให้ดียิ่งขึ้น

รวมถึง การขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง ที่มีจุดแข็งด้านความพร้อมของระบบทรัพยากรไฟฟ้าและน้ำ พร้อมข้อได้เปรียบด้านต้นทุนสาธารณูปโภคที่ต่ำกว่าพื้นที่เศรษฐกิจอื่น จะเป็นจุดดึงดูดดีมานด์ของนักลงทุนที่สำคัญ และช่วยให้ขยายฐานลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมายได้ในอนาคต

ผลประกอบการ สิงห์ เอสเตท ในครึ่งปีแรกของปี 2567

คุณฐิติมา กล่าวปิดท้ายว่า “สิงห์ เอสเตท พร้อมที่จะเดินหน้าด้วยความระมัดระวังและความมุ่งมั่นเสมอ เพื่อผลักดันเป้าหมายรายได้ระดับ 18,000 ล้านบาทตามที่วางแผนไว้

โดยเราจะทุ่มเทด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม วิเคราะห์ตลาดอย่างลึกซึ้ง และพร้อมปรับรูปแบบการลงทุนในครึ่งปีหลังนี้

ท่ามกลางภาวะอุตสาหกรรมที่ท้าทาย การปรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ เราก้าวสู่การเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการลงทุนและพัฒนาระดับนานาชาติอย่างแท้จริง 

ความสำเร็จของเราไม่ได้วัดจากตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่วัดจากความไว้วางใจที่ลูกค้ามอบให้เรามาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการนำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้งไปต่อยอดสู่การสร้างคุณค่าที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์และบริการของ สิงห์ เอสเตท ให้แตกต่างในตลาดปัจจุบัน”