บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยอันดับผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 พบว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความท้าทายจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยังคงสามารถทำรายได้รวมสูงสุด ขึ้นแท่นผู้นำเป็นอันดับ 1 ด้วยยอดรายได้ 19,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 2,702 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อน 15.6%
อันดับ 2 คือ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ทำรายได้ 17,845 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,277 ล้านบาท
ส่วนอันดับ 3 คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 14,725 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 2,248 ล้านบาท
อันดับ 4 ได้แก่ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ทำรายได้ 12,806 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,702 ล้านบาท
อันดับ 5 คือ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) รายได้สุทธิ 9,864 ล้านบาท และทำกำไรทั้งสิ้น 379 ล้าบบาท
สำหรับอันดับ 6 ได้แก่ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 8,649 ล้านบาท และมีกำไรทั้งสิ้น 713 ล้านบาท
อันดับ 7 ได้แก่ บริษัท ออริจิ้น พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ทำรายได้ 6,650 ล้านบาท กำไรสุทธิ 915 ล้านบาท
อันดับที่ 8 บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 4,619 ล้านบาท และมีกำไรทั้งสิ้น 849 ล้านบาท
อันดับ 9 คือ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ทำรายได้ 4,238 ล้านบาท และทำกำไร 1,110 ล้านบาท
และอันดับที่ 10 ได้แก่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 3,997 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทั้ง 4 อันดับแรกมีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทขึ้นไปทุกราย และกำไรสุทธิก็มากกว่า 2,000 ล้านบาทขึ้นไปเช่นกัน และรายได้รวมของ 10 บริษัทข้างต้นมียอดรวมประมาณ 103,184 ล้านบาท
รวมทั้งมีการสำรวจ 6 หุ้นกลุ่มอสังหาฯ ที่มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ครึ่งปีแรก ปี 67 พบว่า SIRI ยังคง โดดเด่นเป็นอันดับ 1 จ่ายปันผลหุ้นละ 0.07 บาท ยีลด์สูงถึง 4.40% รองลงมา SPALI จ่ายปันผลหุ้นละ 0.60 บาท ยีลด์ 3.6%
ตามมาด้วย SC จ่ายปันผลหุ้นละ 0.05 บาท ยีลด์ 2.0% PSH จ่ายปันผลหุ้นละ 0.15 บาท QH จ่ายปันผลหุ้นละ 0.03 บาท และ LPN จ่ายปันผลหุ้นละ 0.05 บาทโดยทั้ง 3 บริษัท ยีลด์ 1.7.% เท่ากัน
นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า แม้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเผชิญความท้าทายหลายประการ
แต่ยังมีสัญญาณบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การลดภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท รวมถึงความต้องการที่อยู่อาศัยในตลาดระดับลักซูรีที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง นายอนุกูล มองว่าตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการต้องหาจุดแข็งของตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
โดยบางกลุ่มมีการทำตลาดแบบกระจายหลากหลายเซกเมนต์ หรือเจาะกลุ่ม Niche Market มากขึ้น เช่น ที่อยู่อาศัยแบบ Pet Friendly หรือกลุ่มแคมปัส เป็นต้น หรือเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการลงทุนด้วยในช่วงนี้ เฉพาะตลาดให้เช่ากลับมาคึกคักด้วยได้รับแรงหนุนจากการกลับมาของชาวต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายยังคงจับตามองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ทั้งนี้ คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวได้เล็กน้อย แต่ยังคงเผชิญความท้าทายจากต้นทุนที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ย และการแข่งขันที่รุนแรง
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว มองหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และเสริมแกร่งทางกลยุทธ์การตลาดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ