แสนสิริ รับมือศก.ผันผวน มั่นใจยอดขาย-รายได้ปี 67 เข้าเป้า

29 ส.ค. 2567 | 22:00 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2567 | 07:16 น.

แสนสิริ เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่อีก 26 แห่งครึ่งปีหลังมั่นใจยอดขาย-รายได้ตามเป้า เผยแผนโครงการที่เหลือของปี ชี้ปัจจัยบวก-ลบส่งผลต่อธุรกิจ เผยธุรกิจเรือธง คอนโดหรูเพนท์เฮ้าส์ชิดลม ขายหมดยังไม่เปิดตัว –ทำเลสารสินปักหมุดปี 68 มูลค่า รวมหมื่นล้าน

ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย เตรียมเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และยังคงมั่นใจในการเติบโต คาดการณ์ยอดขายและรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการปรับตัวและแบรนด์ของแสนสิริที่แข็งแกร่ง

นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดที่กำลังจะฟื้นตัวโดยเน้นยํ้าว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับแสนสิริ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของรายได้รวม แบ่งเป็นรายได้จากบ้านแนวราบ 70% และคอนโดมิเนียม 30%

อุทัย อุทัยแสงสุข

ด้านแผนการเปิดโครงการใหม่ นายอุทัยเผยว่า บริษัทยังคงยึดตามแผนเดิมที่จะเปิดทั้งหมด 46 โครงการในปีนี้ โดยได้เปิดไปแล้ว 20 โครงการในครึ่งปีแรก และเปิดตัวอีก 13 โครงการในไตรมาสที่สาม มูลค่าโครงการประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 13 โครงการจะทยอยเปิดในไตรมาสสุดท้ายของปี

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญคือ การการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการคอนโดมิเนียม 3-4 โครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ยังมั่นใจว่าโครงการบ้านเดี่ยวจะสามารถเปิดได้ครบตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ความคืบหน้าของโครงการบนทำเลชิดลมที่เพนท์เฮ้าส์ ราคา 500 ล้านบาทที่สามารถปิดการขายได้ตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว โครงการนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการ EIA และโครงการที่แพงที่สุดของแสนสิริ บนทำเลสารสินยังอยู่ในกระบวนการการออกแบบ คาดว่าจะได้เริ่มก่อสร้างปี 2572 เป็นต้นไป โดยสองโครงการนี้มีมูลค่ารวมกันประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

สำหรับผลประกอบการ นายอุทัยกล่าวว่า ในครึ่งปีแรก บริษัทสามารถทำยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ได้ประมาณ 50% ของเป้าหมายทั้งปีแล้ว และคาดการณ์ว่าสถานการณ์ในไตรมาส 3 และ 4 จะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

โดยคาดว่าจะสามารถทำได้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี คือ รายได้ 43,000 ล้านบาท ที่ขณะนี้สามารถทำได้แล้ว 2 หมื่นล้านบาท และยอดขาย 52,000 ล้านบาท ที่รับรู้เมื่อครึ่งปีแรก 2.5 หมื่นล้านบาท

นายอุทัยยังเปิดเผยถึงปัจจัยที่ทำให้แสนสิริยังคงประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ คือการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตโควิด-19 ทั้งกลุ่มต่างชาติและชาวไทย โดยพบว่าตลาดคอนโดที่ยังเป็นที่นิยมอยู่ในระดับราคา 2-5 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยวในตลาดบนยังคงได้รับความสนใจ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและการขอสินเชื่อทำได้ยากมากยิ่งขึ้น เนื่องมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูง กลุ่มระดับราคา 3-5 ล้านบาทเป็นกลุ่มที่มีดีมานด์มากที่สุด แต่กลับสามารถขอสินเชื่อได้น้อย แสนสิริจึงได้ปรับกลยุทธ์มาเน้นตลาดบ้านในระดับราคาที่สูงขึ้น ตั้งแต่ 7 ล้านขึ้นไป

นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือของแบรนด์แสนสิริ ที่ได้สร้างมาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เรายังคงรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าไว้ได้ แม้ในช่วงเวลาที่ตลาดมีความท้าทาย

นายอุทัยยังเผยถึงปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี โดยมองว่า เริ่มเห็นสัญญาณหลายอย่าง เช่น แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว การเมืองที่มีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล รวมถึงมาตรการส่งเสริมการซื้อบ้านของภาครัฐ

และเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการ LTV สำหรับบ้านหลังที่ 2 และ 3 และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งคงต้องรอติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทยังคงระมัดระวังและติดตามปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ยืนยันว่าพร้อมรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย

แสนสิริ รับมือศก.ผันผวน มั่นใจยอดขาย-รายได้ปี 67 เข้าเป้า

อย่างไรก็ตาม นายอุทัย ยังเผยถึงความคาดหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่า สิ่งที่อยากเห็นคือการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ เมื่อ GDP โตขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่สามารถช่วยขับเคลื่อน GDP โดยอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าการขายประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากมูลค่า GDP รวมทั้งประเทศที่ 18 ล้านล้านบาท

โดยยังไม่รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานของอสังหาริมทรัพย์ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ และสุขภัณฑ์ การกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์จึงไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายธุรกิจ