thansettakij
กทม. ดันย่าน"พระโขนง-บางนา" สู่เมืองเดินได้ - เดินดี

กทม. ดันย่าน"พระโขนง-บางนา" สู่เมืองเดินได้ - เดินดี

16 ก.ย. 2567 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2567 | 09:07 น.

กทม. ดัน"พระโขนง-บางนา" ตอบโจทย์ ย่านสุขภาวะ ด้วยยุทธศาสตร์ Goodwalk เมืองเดินได้ -เดินดี ท่ามกลางความแออัดคับคั่ง ปริมาณจราจรและชุมชนเมือง

 

โซนตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ขยายตัวแบบก้าวกระโดด จากอิทธิพลของรถไฟฟ้าสายสีเขียว  จึงไม่แปลกที่จะมีโครงการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานรูปแบบใหม่ รวมถึงแหล่งช้อปปิ้งเกิดขึ้นมากกลายเป็นจุดศูนย์รวมที่ไม่ต้องเดินทางไกลห่างไปจากที่พักอาศัย  

กทม.ดันพระโขนง-บางนา กทม.ดันพระโขนง-บางนา

ท่ามกลางความแออัดคับคั่ง ปริมาณจราจรและชุมชนเมือง กรุงเทพมหานครมีแผน บริหารจัดการให้ทั้งสองฝากฝั่งถนน สามารถ เดิน วิ่งและปั่น ได้ อย่างไร้รอยต่อ

พร้อมระดมความคิดเห็น ผ่านเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อการพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา เพื่อตอบโจทย์การเป็นย่านสุขภาวะ ด้วยยุทธศาสตร์ Goodwalk เมืองเดินได้ -เดินดี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมห้องปฏิบัติการเมืองเดินได้-เดินดี

กรุงเทพมหานคร (Good Walk Lab Bangkok) กิจกรรมเดิน-ปั่น-วิ่ง WALK-RIDE-RUN ย่านพระโขนง-บางนา “เดินส่องย่าน ปั่นมองเมือง วิ่งเชื่อมกรุง”  ณ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ บ้านจิรายุ - พูนทรัพย์ เขตพระโขนง เมื่อไม่นานมานี้

 

 

 

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แผนของกรุงเทพมหานครต้องการทำให้พื้นที่ในกทม. มีอัตลักษณ์ มีการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในหลาย ๆ รูปแบบ ย่านพระโขนง-บางนา โดยกายภาพเป็นพื้นที่ที่มีแทบทุกอย่าง

ทั้งด้านเศรษฐกิจ เกษตร สวน พื้นที่ราชการ มีทางเดินที่สามารถเดินได้ มีอาหาร และกิจกรรมที่อยู่ในพื้นที่ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องความห่างไกลในเรื่องของการเดินทาง เมื่อเรามีความพยายามจะทำย่าน เราอยากทำให้ชีวิตของคนที่นี่ครบสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นการจัดเสวนาในวันนี้นอกจากจะทำให้คนเห็นถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ร่วมกันแล้ว การนำหลายภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยนกันว่ากิจกรรมที่ควรจะอยู่ในพื้นที่ และสิ่งที่ผู้คนที่นี่ต้องการอยากจะทำจริง ๆ มีอะไรบ้างนั้นเป็นสิ่งที่ดี

 เมื่อเปิดพื้นที่แล้ว สิ่งสำคัญคือความต่อเนื่องในการทำกิจกรรม ต้องทำให้ย่านนั้นเป็นพื้นที่ที่อยู่ได้ด้วยตนเองและเกิดความยั่งยืน การเสวนาในวันนี้จะเป็นการร่วมหาช่องว่าง ปัญหา อุปสรรคในการพัฒนาย่านนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงและนำไปขยายผลให้มีพื้นที่เช่นนี้ในย่านอื่น ๆ ด้วย

“ทำไมเราถึงอยากให้เกิดย่าน เพราะย่านในลักษณะนี้จะทำให้เกิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจ คนในพื้นที่ก็จะอยู่ได้ และออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ย่านต้องไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพแต่ต้องเป็นพื้นที่่ที่ผู้คนได้ออกมาทำกิจกรรมในสิ่งที่ตัวเองชอบได้ด้วย เมื่อคนรู้สึกเป็นเจ้าของเมือง ในที่สุดอาจทำให้คนรู้สึกว่าอยากร่วมกันทำให้เมืองน่าอยู่ การจะทำให้เมืองน่าอยู่ เมืองต้องมีชีวิต เพราะเมืองคือคน” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว

สำหรับกิจกรรมเสวนาสาธารณะในวันนี้ มุ่งแลกเปลี่ยนและนำเสนอโอกาสและแนวทางการพัฒนาย่านพระโขนง - บางนา เพื่อตอบโจทย์และเป็นหมุดหมายสำคัญการเป็นย่านสุขภาวะด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ - เมืองเดินดี สำหรับกิจกรรมห้องปฏิบัติการเมืองเดินได้-เดินดี กรุงเทพมหานคร (Good Walk Lab Bangkok) 

โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UDDC  สสส. และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดกิจกรรมโดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดงาน กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมเดินส่องย่าน ระยะทาง 2 กิโลเมตร กิจกรรมปั่นมองเมือง ระยะทาง 20 กิโลเมตร และกิจกรรมวิ่งเชื่อมกรุง ระยะทาง 12 กม. โดยจัดขึ้นเพื่อมุ่งส่งเสริมการสร้างเมืองเดินได้ - เมืองเดินดี

ส่งเสริมการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ตอบโจทย์คนเมืองทั้งมิติทางด้านกาย จิต สังคม และปัญญา กิจกรรม เดิน-ปั่น-วิ่ง และ เสวนาสาธารณะวันนี้ จึงถือเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนเมืองเดินได้ - เมืองเดินดี ในย่านพระโขนง - บางนา ให้เป็นย่านสุขภาวะ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายของคนเมือง

ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการสร้างการรับรู้และภาพจำของย่าน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาและส่งเสริมเส้นทางวิ่งและเส้นทางปั่นจักรยานในย่านพระโขนง - บางนา เพื่อส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะและส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระดับเมืองต่อไป