เปิด 3 ความเห็นสภากทม. เบรกจ่ายหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 1.4 หมื่นล้าน

13 ก.ย. 2567 | 04:12 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 04:17 น.

เปิด 3 ความเห็นสมาชิกสภากทม.ค้านจ่ายหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ตั้งข้อสังเกตสัญญาเดินรถผิดปกติ-เอกชนได้กำไรฝ่ายเดียว หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งจ่ายภายใน 180 วัน

 เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 เห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 14,549 ล้านบาท ก่อนรับหลักการต่อไป 

ทั้งนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ฉบับที่...) พ.ศ. …  จำนวน 24 ท่าน กำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อพิจารณาหลักการของร่างข้อบัญญัติดังกล่าว
 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความประสงค์จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดภายใน 180 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งสภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสมแล้ว 

ขณะเดียวกันพบว่าในที่ประชุมสภากทม.กลับมีความเห็นของสมาชิกจำนวน 3 ราย ที่ตั้งข้อสังเกตุและยังมีข้อกังขาถึงการจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 1.4 หมื่นล้านบาทให้แก่เอกชน  
 

นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่ผู้มาบริหารเดินรถได้กำไรอยู่ฝ่ายเดียว ทำไมกรุงเทพมหานครต้องจ่ายในราคาสูงตามที่ฟ้องมาขนาดนี้  

“ในส่วนของ BTS ที่ทวงหนี้ กทม. ผ่านสื่อแบบนี้ตามกฎหมายแล้วเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ ตลอดจนการทำสัญญาที่ผิดปกติหรือไม่ จึงอยากให้คณะผู้บริหารไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วนแทนประชาชนด้วย” นายพีรพล กล่าว 

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับรายละเอียดการชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งเรื่องของดอกเบี้ยต่อปี จำนวนที่ต้องชำระทั้งหมด และการคำนวณดอกเบี้ยต่อวันนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร

นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ได้สอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงการคำนวณเงินต้นและการคำนวนอัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นเดียวกันว่าเหมาะสมหรือไม่