ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานตลาดอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า หน่วยที่มีการเสนอขายใหม่ประเภทอาคารชุด 90,585 หน่วย เพิ่มขึ้น 13.1% มูลค่า 403,619 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 24.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับยอดขายได้ใหม่ของอาคารชุดในไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่าจำนวน 6,029 หน่วย ลดลง 3.4% มูลค่า 24,075 ล้านบาท ลดลง 7.5%
ทั้งนี้ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในด้านที่อยู่อาศัยโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่ในไตรมาส 2 ปี 2567
พบว่า ในระหว่างการสำรวจมีจำนวน 7,967 หน่วย ลดลง 29.7% และมีมูลค่า 39,991 ล้านบาท ลดลง 13.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านยอดขายได้ใหม่ของขายอาคารชุด มีจำนวนทั้งสิ้น 6,029 หน่วย ลดลง 3.4% มูลค่า 24,075 ล้านบาท ลดลง 7.5% ทั้งนี้ 5 ทำเลที่มีหน่วยโครงการอาคารชุดที่มีขายได้ใหม่สูงสุดประกอบด้วย
อันดับ 1 โซนห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 1,441 หน่วย มูลค่า 6,211 ล้านบาท
อันดับ 2 โซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 572 หน่วย มูลค่า 1,551 ล้านบาท
อันดับ 3 คลองหลวง จำนวน 523 หน่วย มูลค่า 1,159 ล้านบาท
อันดับ 4 โซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศจำนวน 477 หน่วย มูลค่า 1,270 ล้านบาท
อันดับ 5 โซนธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน 420 หน่วย มูลค่า 1708 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทำเลที่มีหน่วยเหลือขายของอาคารชุดมากถึง 84,556 หน่วย เพิ่มขึ้น 14.5% มูลค่า 379,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.6% ที่ควรจะต้องระมัดระวัง เนื่องจากยังคงมีหน่วยเหลือขายที่มากติดอันดับต้น ๆ แม้ว่าบางพื้นที่จะมียอดขายและอัตราการดูดซับที่ดี ได้แก่
อันดับ1 โซนห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 9,846 หน่วย มูลค่า 39,988 ล้านบาท
อันดับ 2 โซนธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน 9,314 หน่วย มูลค่า 29,809 ล้านบาท
อันดับ 3 โซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ จำนวน 8,280 หน่วย มูลค่า 27,391 ล้านบาท
อันดับ 4 โซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 6,580 หน่วยมูลค่า 17,887 ล้านบาท
อันดับ 5 โซนลาดพร้าว-วังทองหลาง-บางกะปิ จำนวน 5,197 มูลค่า 16,965 ล้านบาท
"ภาพรวมไตรมาส 2 ปี 2567 ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ภาพรวมมียอดขายที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยตลาดภาพรวมพบการขยายตัวในที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว และบ้านแฝดที่อยู่ในระดับราคาเกินกว่า 10 ล้านบาท ถึงแม้มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ไม่มาก แต่สร้างมูลค่าของยอดขายที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพรวมที่อยู่อาศัยที่ราคาเกินกว่า 10 ล้านบาท พบว่า มีการสะสมอุปทานส่วนเกินมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยเหลือขายเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนหน่วย และมูลค่า สูงถึง 78.1% และ 82.1% ตามลำดับ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คงต้องเฝ้าระวังสต็อกคงเหลือในทุกประเภทและระดับราคา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีที่อยู่อาศัยหน่วยเหลือขายที่ลดลงช้า และมีอัตราการดูดซับที่ต่ำลง ซึ่งกระจายในหลายพื้นที่" นายวิชัย กล่าว