คนไร้บ้าน โจทย์ใหญ่ รัฐบาลแพทองธาร ต้องสะสาง ทั่วประเทศ 2,719 ราย กทม.มากสุด

28 ก.ย. 2567 | 22:29 น.

คนไร้บ้าน โจทย์ใหญ่ รัฐบาลแพทองธาร ต้องสะสาง ชี้ ทั่วประเทศ 2,719 ราย  กทม. ลุยผนึกกำลังพม. ตำรวจ  พบ ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร  215 ราย

 

 

สภาพเศรษฐกิจและสังคมของไทย นับวันเกิดความเหลื่อมล้ำมีช่องว่างถ่างออกไปทุกที  ปัจจุบันคนเข้าถึงที่อยู่อาศัยยาก และแม้ว่าจะมีงานทำเป็นหลักแหล่ง ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นสะท้อนภาพในซอกหลืบของสังคมที่ย่ำแย่มีคนไร้บ้านหรือเร่ร่อนมากขึ้น แม้ทุกรัฐบาล  ให้ความสำคัญ ยกระดับคุณภาพชีวิต จัดหาที่อยู่อาศัย เป็นหลักแหล่ง และส่งกลับสำหรับคนเร่ร่อนขอทานต่างด้าว  

สำรวจคนไร้บ้าน

แต่ดูเหมือนมีอุปสรรคจากตัวคนไร้บ้านเองต้องการปักหลักอยู่ยังถิ่นที่อยูอาศัยเดิม โดยให้เหตุผลว่าเคยชินและหากินง่าย ที่สำคัญคืองบประมาณมีจำกัด  ปริมาณคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เศรษฐกิจคุณภาพชีวิตของแต่ละครัวเรือนที่ต่างกัน ประกอบกับไม่มีจะกิน จึงผันตัวเป็นขอทาน ซึ่งยากที่จะจัดการให้หมดลงโดยง่าย และนี่คืออีกปัญหาใหญ่ที่ลุกลาม หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลแพทองธารต้องนำไปสู่การแก้ไขในระดับชาติ   

 

ทั้งนี้ที่เป็นข่าวมาโดยตลอด จุดศูนย์รวมใหญ่ คือ ย่านสนามหลวง ย่านถนนราชดำเนิน ที่เป็นกระแส ไม่นานนี้ บริเวณ ป้ายรถประจำทาง บริเวณหน้าศูนย์การค้าดังย่านบางกะปิ มีคนไร้บ้านและคนงานอาศัยนอนกันเป็นจำนวนมาก แม้เจ้าหน้าที่จะเจรจาให้ว่าจะจัดหาที่อยู่อาศัย ซึ่งจัดขึ้นโดยรัฐแต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะให้เหตุผลว่า วิถีชีวิตแบบนี้สบายดีแล้วและใกล้แหล่งงานของเขา ไม่ว่าจะเก็บขยะขาย รับจ้างขนผักบริเวณตลาดสด 

จากสถิติล่าสุด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  สำรวจพบคนไร้บ้านทั่วประเทศ 2,719 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงอยู่ในกทม.มากที่สุด ขณะเดียวกันพบว่าคนไร้บ้านมีอายุคาดเฉลี่ยเสียชีวิตที่ 60 ปี  ต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยคนไทยทั่วไปที่ 75 ปี

ขณะตัวเลขของ แผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่ได้รับการสนับสนุนจากพม.และสสส.สำรวจข้อมูลแจงนับคนไร้บ้านครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือนพ.ค.2566 พบคนไร้บ้านจำนวน 2,499 คน พบในพื้นที่กรุงเทพฯสูงสุด 1,271 คน คิดเป็นสัดส่วน 50.86%

รองลงมา ชลบุรี 126 คน คิดเป็น 5.04% เชียงใหม่ 118 คน คิดเป็น 4.72% ขอนแก่น 73 คน คิดเป็น 2.92% กาญจนบุรี 62 คนคิดเป็น 2.48% สาเหตุหลักมาจากตกงาน 44.72% มีปัญหาครอบครัว 35.18% ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 45-55 ปี ทั้งยังพบคนไร้บ้านหน้าใหม่ถึง 39 %

นอกจากนี้ยังพบคนไร้บ้านมีปัญหาติดสุรา 18.1% ปัญหาสุขภาพจิต 17.9%  อีกทั้งมีผู้สูงอายุไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้น 22% เมื่อสำรวจถึงรายได้พบ 65% มีอาชีพ ส่วนใหญ่รับจ้าง รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 1,500 บาทต่อเดือนเป็นรายได้ที่ต่ำและไม่สม่ำเสมอ ทั้ง 55% จบเพียงประถมศึกษา

ผลการสำรวจสะท้อนถึงสัดส่วนคนไร้บ้านสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่ม เป็นความท้าทายในกระบวนการป้องกัน และฟื้นฟูคนไร้บ้านในอนาคต ซึ่งจุฬาฯ และเครือข่าย จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อการออกแบบเชิงนโยบายต่อไป 

  ล่าสุด นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าเมื่อค่ำวันที่27 ก.ย. 67 กรุงเทพมหานคร นำโดย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตพื้นที่ ร่วมกับ พม. และตำรวจ สน.พื้นที่

กระจายกันลงพื้นที่สำรวจคนไร้บ้านและขอทานบริเวณย่านสุขุมวิท ในพื้นที่เขตคลองเตย เขตวัฒนา บริเวณหัวลำโพง พื้นที่เขตปทุมวัน และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และบริเวณถนนราชดำเนิน พื้นที่เขตพระนคร

จุดแหล่งรวมคนไร้บ้านและขอทานเป็นจำนวนมาก และได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงความไม่เรียบร้อยในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อสำรวจพบได้ทำการบันทึกประวัติ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งบางส่วนทาง พม. ได้ส่งตัวกลับภูมิลำเนา และจะร่วมหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป

สำหรับผลการสำรวจพบคนไร้บ้านและคนขอทานบริเวณถนนราชดำเนิน พื้นที่เขตพระนคร พบคนไร้บ้าน จำนวน 215 ราย (เพศชาย 143 ราย เพศหญิง 72 ราย) บริเวณสุขุมวิท ฝั่งแยกอโศกมนตรีถึงเอกมัย (สุขุมวิท ซอย 1 ถึงสุขุมวิท ซอย 63) และฝั่งแยกอโศกมนตรีถึงถนนดวงพิทักษ์ (สุขุมวิท ซอย 4 ถึงแยกห้าง Terminal 21) พบคนไร้บ้าน จำนวน 20 ราย

พบขอทานต่างด้าว จำนวน 5 ราย และคนพิการไร้ที่พึ่ง จำนวน 3 ราย ทั้งนี้ ได้สอบถามเพิ่มเติมพบว่าคนพิการทั้ง 3 รายได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่บริเวณหัวลำโพง เขตปทุมวัน พบคนไร้บ้าน จำนวน 14 ราย (เพศชาย 12 ราย เพศหญิง 2 ราย) พม.นำส่งกลับภูมิลำเนา จำนวน 1 ราย บริเวณฝั่งตรงข้ามหัวลำโพง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พบคนไร้บ้าน จำนวน 14 ราย (เป็นชายทั้งหมด) พม.ส่งกลับภูมิลำเนา จำนวน 1 ราย

ที่ผ่านมารายงานข่าวจาก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  โดยการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี 

แต่ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านที่ยังใช้ชีวิตเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะในจังหวัดต่างๆ   พม.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสำรวจข้อมูลกลุ่มคนไร้บ้านในปี 2562   เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และกำหนดเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหากลุ่มคนไร้บ้านในทุกมิติ  เช่น การคุ้มครองสิทธิ  การฟื้นฟู  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน 

ทั้งนี้ กลุ่มคนด้อยโอกาส คนไร้บ้าน คนพิการ รวมถึงขอทาน อีกหนึ่งความท้าทายที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหา นอกจากเศรษฐกิจปากท้อง